ส่องผลตอบแทนกองทุนหุ้นรอบ 1 ปี “หุ้นญี่ปุ่น” แชมป์ สูงสุด 46.59%

HoonSmart.com >> ส่องผลตอบแทนกองทุนหุ้นในรอบ 1 ปี เทียบแชมป์แต่ละกลุ่มกองทุน พบ “กองทุนหุ้นญี่ปุ่น” สูงสุด 46.59% รองลงมา “กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่” 42.89% “กองทุนหุ้นสหรัฐฯ” 29.31% “กองทุนหุ้นโลก” 28.59% ฟาก “กองทุนหุ้นไทย” กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่สูงสุด 8.01% ส่วน “กองทุนหุ้นไทย” กลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็กอยู่ที่ 7.03% ด้าน MFC มอง “หุ้นไทย” แกว่งตามหุ้นโลก ให้น้ำหนัก Slightly Overweight ส่วน “หุ้นสหรัฐ” ระยะสั้น 6 เดือนยังน่าสนใจทยอยลงทุนหุ้นเติบโตคุณภาพดี

“HoonSmart” สำรวจผลตอบแทนของ “กองทุนหุ้น” ย้อนหลัง 1 ปี ข้อมูล ณ 30 ก.ย.2566 ส่วนใหญ่กองทุนหุ้นต่างประเทศสร้างผลตอบแทนโดดเด่น ทิ้งห่างกองทุนหุ้นไทยค่อนข้างมาก โดยกองทุนที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดในแต่ละประเภทกองทุน ดังนี้

อันดับ 1 กองทุนหุ้นญี่ปุ่น ได้แก่ กองทุนเปิด แอสเซทพลัสนิปปอนโกรท (ASP-NGF) อยู่ที่ 46.59%

อันดับ 2 กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ กองทุนเปิดเคดับบลิวไอ อิเมอร์จิ้ง อีสเทอร์น ยุโรป เอฟไอเอฟ (KWI EE EURO) อยู่ที่ 42.89%

อันดับ 3 กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส เอ็นดีคิว (ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) หรือ SCBNDQ(SSFE) อยู่ที่ 29.31%

อันดับ 4 กองทุนหุ้นทั่วโลก ได้แก่ กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล ออพพอร์ทูนิตี้ ชนิดผู้ลงทุนพิเศษ (Principal GOPP-X) อยู่ที่ 28.59%

อันดับ 5 กองทุนหุ้นยุโรป ได้แก่ กองทุนเปิดเค ดัชนีหุ้นยุโรป (K-EUX) อยู่ที่ 26.52%

อันดับ 6 กองทุนหุ้นเอเชียแปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่น ได้แก่ กองทุนเปิดยูโอบี สมาร์ท เอเชีย (UOBSA) อยู่ที่ 16.76%

อันดับ 7 กองทุนหุ้นจีน ได้แก กองทุนเปิดยูโอบี สมาร์ท เกรธเธอร์ ไชน่า (UOBSGC) อยู่ที่ 11.78

อันดับ 8 กองทุนหุ้นอินเดีย ได้แก่ กองทุนเปิดทิสโก้ อินเดีย แอคที อิควิตี้ ชนิดสะสมผลตอบแทน* (TISCOINA-A) อยู่ที่ 9.50%

อันดับ 8 กองทุนหุ้นไทย กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) ได้แก่ กองทุนเปิดทิสโก้ ไฮ ดิวิเดนด์ หุ้นทุน เพื่อการเลี้ยงชีพ (THDRMF) อยู่ที่ 8.01%

อันดับ 9 เท่ากันสองกองทุน ได้แก่ กองทุนหุ้นไทย กลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก(Equity Small/Mid-Cap) ได้แก่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ เพื่อการออม ชนิดเพื่อการออมพิเศษ (ASP-SME-SSFX) อยู่ที่ 7.03% และ

กองทุนหุ้นเฮลธ์แคร์ทั่วโลก ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลเฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCBRMGHC) อยู่ที่ 7.03%

อันดับ 10 กองทุนหุ้นเวียดนาม ได้แก่ กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดผู้ลงทุนพิเศษ (PRINCIPAL VNEQ-X) อยู่ที่ 5.45%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) แนะนำกลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ “การจ้างงาสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง จับตาต่อเงินเฟ้อสัปดาห์นี้” มุมมองตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากสหรัฐรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 336,000 สูงกว่าคาดที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง และมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 227,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวในฝั่งค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยของของแรงงานที่เพิ่มขึ้น 0.2% MoM ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 0.3% MoM ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการชะลอตัวของเงินเฟ้อสหรัฐฯ

“ดัชนี S&P500 ที่ระดับ 4,200-4,300 จุด เป็นแนวรับที่น่าสนใจทยอยลงทุนสำหรับหุ้นเติบโตคุณภาพดี (Quality Growth) โดยสัปดาห์นี้นักลงทุนรอติดตามผลประกอบการไตรมาส 3 ของกลุ่มการเงิน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย.”

MFC ให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระยะสั้น (0-6 เดือน) เป็น Slightly Overweight ขณะที่ภาพระยะกลางถึงยาว (6-12 เดือน) ยังคงน้ำหนัก Neutral กองทุนแนะนำ ได้แก่ MGF, M-EDGE, MCONT

ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลงเมื่อเทียบรายสัปดาห์ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้นและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ส่งผลให้หุ้นเกือบทุกกลุ่มปรับตัวลดลง

“ช่วงปลายสัปดาห์ตลาดหุ้นยุโรปกลับมาปรับตัวบวก โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯและยูโรโซน MFC คงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นยุโรป เป็น Neutral กองทุนแนะนำ ได้แก่ MEURO, M-EUBANK”

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหว Sideways ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อ Bond Yield สหรัฐ 10 ปีที่อยู่ในระดับสูง ล่าสุดอยู่ที่ 4.73% รวมถึงประเด็นนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยตั้แต่ 1 ม.ค.-6 ต.ค.66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 166,025.16 ล้านบาท

ส่วนความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเองและกลุ่มปาเลสไตน์มองว่าเป็นปัจจัยกดดันตลาดในระยะสั้นและธปท.เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.4 จากด้านการผลิจและผลประกอบการเป็นสำคัญ

“MFC มีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นไทยจึงให้น้ำหนักเป็น Slightly Overweight กองทุนแนะนำ M-MIDSMALL , M-FOCUS, M-S50, HI-DIV , MBT-G”

ด้านตราสารหนี้ต่างประเทศ มุมมองระยะสั้นให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Neutral คาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นได้แต่จำกัด และทรงตัวอยู่ระดับสูงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่จะอยู่ระดับสูงนานและอุปทานพันธบัตรรัฐบาสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น

“Yield ตราสารหนี้คุณภาพสูงที่ปรับขึ้นมากกว่าในอดีตอยู่ที่ 4-6% และแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯชะลอตัวลง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยยังคงอยู่ในปีหน้าได้ส่งผลให้ Yield ปรับลงได้ในระยะยาว จึงแนะนำลงทุนได้สำหรับระยะยาว ซึ่งให้น้ำหนักเป็น Slightly Overweight กองทุนแนะนำ ได้แก่ MUBOND , I-SMART”