HoonSmart.com>>30 ปี ThaiBMA เผยวิกฤตต้มยำกุ้งจุดพลิกผันตลาดตราสารหนี้ไทย แหล่งระดมทุนลำดับ 3 ของประเทศ รายแรกในอาเซียนที่ออกบอนด์เพื่อความยั่งยืน เร่งเดินหน้าพัฒนาพันธบัตรสีเขียวทุกรูปแบบ ดึงดิจิทัลลดขั้นตอนทุกกระบวนการ
นายสมหมาย ภาษี ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวเปิดงานสัมมนาในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในหัวข้อ “30 years of ThaiBMA : A Journey towards a fair and efficient bond market” โดยเน้นถึงการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่เติบโตขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งทำให้ตลาดตราสารหนี้กลายเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันสร้างตลาดที่มีเสถียรภาพ และย้ำถึงความสำคัญของการมีธรรมาภิบาล (governance) เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้ยั่งยืนในอนาคต
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวบรรยายในหัวข้อ “พัฒนาการตลาดตราสารหนี้เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของตลาดการเงินไทย” โดยชี้ให้เห็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งทำให้ตลาดตราสารหนี้กลายเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญรองจากธนาคารและตลาดทุน โดยสร้างประโยชน์ให้กับภาครัฐ ธนาคาร และภาคเอกชน รวมถึงการพัฒนาตราสารหนี้ประเภท ESG หรือ Green Transition เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังเน้นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการลดขั้นตอนที่ซับซ้อนรวมถึงปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค พัฒนาตราสารประเภทใหม่ๆ และยกระดับมาตรฐานในการกำกับดูแลและตรวจสอบ เพื่อทำให้การลงทุนและระดมทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
สำหรับช่วง เสวนาหัวข้อ “จากวันวาน … ถึงวันนี้ สู่แนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในทศวรรษหน้า” นั้น
นางชนันภรณ์ พิศิษฐวานิช รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่าวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างจริงจัง และทำให้มีการจัดตั้ง สบน. โดยมีภารกิจหลักในการจัดหาเงินกู้ให้กับรัฐบาล และบริหารหนี้สาธารณะให้มีต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม พร้อมทั้งพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืนให้กับภาครัฐและเอกชน สบน. ได้มีบทบาทในการพัฒนาตราสารหนี้ใหม่ๆ โดยรัฐบาลไทยเป็นภาครัฐรายแรกของภูมิภาคอาเซียนที่มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) ในปี 2563 และกำลังจะออก Sustainability-linked bond ซึ่งเป็นพันธบัตรที่จ่ายอัตราผลตอบแทนเชื่อมโยงกับเป้าหมายความยั่งยืนอีกด้วย
ในอดีตที่ผ่านมา สบน. ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งองค์กรค้ำประกันเครดิต หรือ CGIF เพื่อช่วยส่งเสริมการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนในภูมิภาคอาเซียน การดำเนินการในระยะข้างหน้าของ สบน. คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของนักลงทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทุกกลุ่ม และการทำให้ตลาดตราสารหนี้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น เป็นต้น
นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวถึงบทบาทของ กลต. ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการออกหุ้นกู้ ให้เป็นแหล่งระดมทุนที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ มุ่งพัฒนาตลาดให้ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ลงทุน เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการดูแลนักลงทุน การจัดทำ Regulatory guillotine เพื่อลดภาระความซ้ำซ้อนของกฎเกณฑ์กำกับดูแล
ปรับปรุงนิยามผู้ลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ และส่งเสริมการลงทุนที่มีความรับผิดชอบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านตราสารหนี้ ESG รวมถึงการเพิ่มความรู้และความเข้าใจของผู้ที่ทำหน้าที่ในตลาดตราสารหนี้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายเพื่อพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์การมุ่งสู่ตลาดทุนสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงบทบาทของ ธปท. ที่มีส่วนร่วมตั้งแต่ในอดีต โดยที่บทบาท ธปท. จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการเงินและเสริมสร้างเสถียรภาพในตลาดเงินและตลาดพันธบัตร ธปท. ได้จัดตั้งระบบ Primary Dealer ขึ้นตั้งแต่ปี 2542 ทำให้มีการเสนอราคาซื้อขายของพันธบัตรที่ทำให้เกิด Benchmark ของตลาด ส่งเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงินผ่านการพัฒนาตลาดซื้อคืน (Repo) โดยร่วมกับ ThaiBMA ในการจัดทำสัญญามาตรฐานฉบับภาษาไทย
ทั้งนี้ ธปท. ยังได้มีการออกพันธบัตร ธปท. ระยะสั้นเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของผู้ลงทุน และเร็วๆนี้ได้ริเริ่มพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR เพื่อนำไปใช้อ้างอิงในธุรกรรมอื่น ๆ ของภาคธุรกิจ ซึ่งนับเป็นการสร้างฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ในระยะยาวต่อไป
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การครบรอบการดำเนินงาน 30 ปีในวันนี้ไม่ใช่เพียงในฐานะองค์กรเท่านั้น แต่ถือเป็นความสำเร็จของผู้ร่วมตลาดตราสารหนี้ไทยทั้งหมด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ThaiBMA ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกผลักดันและประสานงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีมาตรฐาน และได้พัฒนานวัตกรรม เครื่องมือ และ ข้อมูลต่างๆให้ผู้ร่วมตลาดใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ออกตราสารหนี้สามารถระดมทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสมในเวลาที่ต้องการ และนักลงทุนสามารถลงทุนโดยได้ผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง
ทั้งนี้ ThaiBMA ยังมุ่งมั่นในการเป็น SRO เพื่อกำกับดูแลสมาชิกให้สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมทุนและลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ตลาดตราสารหนี้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
———————————————————————————————————————————————————–