คปภ.เลือก 8 นวัตกรรมประกันภัย ปี’67 แพลตฟอร์ม “สกัดลวง-เคลมเจ็บป่วย”ที่ 1

HoonSmart.com>>คปภ.ดึง 7 ผู้บริหารภายนอกร่วมคัดสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย ปิด 5 จุดอ่อนภาคธุรกิจ ทีม Scamtify ดึงเอไอ สกัดลวงออนไลน์ ทีม สาติ ใช้แพลตฟอร์มเคลมค่ารักษา ลดโกง คว้าชัยที่ 1 เดินหน้าส่งเสริมนวัตกรรมใช้งานได้จริง ดึงทุกกลุ่มร่วมสร้างอนาคตประกันภัยไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินและมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย “OIC InsurTech Award 2024” ภายใต้โจทย์ “ยกระดับประกันภัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี ของประชาชน” โดยการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทนักเรียน นิสิต/นักศึกษา และประเภทบุคคลทั่วไป ชิงเงินรางวัลกว่า 500,000 บาท พร้อมโล่รางวัล จำนวน 10 รางวัล มีผู้สมัคร เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 400 ทีม
  

สำหรับ คณะกรรมการตัดสิน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน ได้แก่ นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการ ด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  ดร.อรฉัตร เลียงพิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)  นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund)  นางสาวกัลยา จุกหอม รองผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย นายชาญฤทธิ์ สันตินานาเลิศ ผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิตไทย และนางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงาน คปภ.

ผู้เข้าร่วมประกวดต้องทำเสนอโครงการให้อยู่ภายใต้ 5 หลักเกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย 1) Wow factor & Pitching Presentation การนำเสนอโครงการได้อย่างน่าสนใจ ภายในเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งตอบคำถามได้อย่างชัดเจนครบถ้วน 2) Problem & Pain Point ปัญหาที่เสนอนั้นมีอยู่จริง และเกิดผลกระทบกับ ผู้คนจำนวนมาก 3) Product & Solution สิ่งที่นำเสนอมาสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ครบทุกมิติ และมีความเป็นไปได้ในบริบทประเทศไทย 4) Market Opportunities มีโอกาสทางการตลาด และ 5) Technology มีความน่าสนใจ ทันสมัย ประยุกต์ใช้ได้อย่างตอบโจทย์ และยังไม่มีการใช้งานแพร่หลายในธุรกิจประกันภัยมากนัก  

สายนิสิต ทีมScamtify มาวิน
AI แพลตฟอร์มกันลวงออนไลน์ฯ

รางวัลชนะเลิศ ประเภทนักเรียน นิสิต/นักศึกษา ได้แก่ ทีม Scamtify เสนอ “AI แพลตฟอร์มป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ ตรวจจับและแจ้งเตือนภัย เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม TeleHalfBies เสนอแนวคิด “Carbon Neutral Insurance บริหารการปล่อยคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี AI และ IOT ช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน และได้รับสิทธิประโยชน์ของเบี้ยประกันภัยที่ลดลง” รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมโล่
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม HealthGuard เสนอ “แพลตฟอร์มฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัดด้วย Machine Learning และ Computer Vision เพื่อติดตามผลและเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟู พร้อมลดภาระค่าใช้จ่ายประกันภัย” รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่
ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม ลิงกังแลเล เสนอแนวคิด “ประกันภัยที่ผสานเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ชาวประมง” และ ทีม Log (x) เสนอแนวคิด “ประกันขนส่งยาบนระบบ Cold Chain ใช้ AI และ IoT มาควบคุมคุณภาพ ลดความเสี่ยง รักษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพยา” รับเงินรางวัล 15,000 บาท  

บุคคลทั่วไป สาติ ที่หนึ่ง
ชูแพลตฟอร์มเคลมค่ารักษา

ผลการตัดสินรางวัลประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม สาติ เสนอ “แพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับโรงพยาบาล พร้อมทั้งช่วยให้บริษัทประกันภัยลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกง และอนุมัติ เคลมได้รวดเร็วขึ้น” รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม PoliSEE เสนอ “AI Assistant ตัวช่วยที่ทำให้ผู้เอาประกันเข้าใจและใช้ประโยชน์จากกรมธรรม์ได้เต็มที่ ด้วยการแปลงข้อมูลซับซ้อน ให้เข้าใจง่าย” รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมโล่
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม หมดห่วง เสนอแนวคิด “แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ลดการบาดเจ็บและค่าใช้จ่ายสินไหมทดแทน” รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่
ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม MMAT เสนอ “แอปพลิเคชั่น MR.Rehab : AI เพื่อการกายภาพบำบัดผู้ป่วย Stroke ที่บ้านและช่วยบริษัทประกันภัยลดภาระค่าใช้จ่ายสินไหมทดแทน” และทีม ManGroveAI ภายใต้แนวคิด “AI ประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมชายฝั่ง เชื่อมโยงประกันภัย และ การคำนวณเบี้ยประกันภัยที่แม่นยำ” รับเงินรางวัล 15,000 บาท  

นายชูฉัตร กล่าวว่า ปีนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันมากกว่าทุกปี โดยตลอดระยะเวลาการแข่งขันในช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมา มีกิจกรรม Intensive Bootcamp สาหรับ 30 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทำ Workshop หัวข้อ Pitch Deck Structure, Minimum Viable Product (MVP), Pitch Like a Pro เทคนิคการนำเสนอ และมีทีมให้คำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็น Mentor ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแบบ Intensive Coaching ช่วยกระตุ้นความคิดและเสริมความแกร่งของผลงานให้สามารถตอบโจทย์ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด และสามารถนำเสนอนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการประกันภัยให้มีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ ในการต่อยอดไปสู่ภาคธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ ถึงแม้ว่าการประกวดจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม ผู้สมัคร และผู้ที่สนใจ ยังสามารถเข้าเว็บไซต์การเรียนรู้ของคปภ.เพื่อศึกษาเพิ่มเติมองค์ความรู้และนำไปปรับใช้ในการต่อยอดและพัฒนาผลงานเทคโนโลยีด้านการประกันภัย หรือ InsurTech ได้กันอย่างต่อเนื่อง  

“หวังว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ นักศึกษา นักพัฒนา นักธุรกิจ และทุกภาคส่วนที่สนใจได้ร่วมแสดงศักยภาพและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้าน InsurTech โดยสำนักงาน คปภ. และศูนย์ CIT พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง และร่วมกันสร้างอนาคตของอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัยของไทยในอนาคต” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย