HoonSmart.com>>ก.ล.ต. เตรียมสรุปเกณฑ์ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ภายในเดือนธ.ค.นี้ รองรับปริมาณความต้องการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจ นักลงทุนสายกรีน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับเป็นซีรีส์สินทรัพย์การลงทุนสีเขียวน้องใหม่ ต่อจากกองทุน Thai ESG ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2567 นี้ จะมีการสรุปเงื่อนไข ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Investment Trust : GIT) เพื่อรองรับและสนับสนุนการลงทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมภาคป่าไม้หรือการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ของประเทศ
ทั้งนี้ เพราะเห็นว่ามีความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เป็นช่องทางระดมทุน และก็มีนักลงทุนที่ต้องการลงทุน ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งเป็นนักลงทุนเฉพาะเจาะจง เป็นสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ ที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาว และเป็นกลุ่มที่มีความรู้ เพราะกองทรัสต์จีไอที ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย
นับว่า เป็นการส่งเสริมการลงทุนด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยลดโลกร้อน หรือ การลงทุนสีเขียว ที่มีความต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่มีการให้ระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
สำหรับ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม หรือ GIT จะเป็นช่องทางการระดมทุนในตลาดทุนแก่ธุรกิจ ทั้งโครงการสิ่งแวดล้อมที่ออกมาใหม่ หรือเป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว ครอบคลุม 2 ด้านหลัก ๆ คือ จะต้องเป็นการลงทุนใน 1.กรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าที่ดิน เฉพาะกิจกรรมในภาคป่าไม้และการเกษตร เพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอนให้เพียงพอตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
2. ลงทุนในสิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของโครงการตามเงื่อนไขของ อบก.โดยที่ดินต้องอยู่ในประเทศไทย และอย่างน้อยโครงการทั้งหมดจะต้องขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (TVVER) กับ อบก. หรือมาตรฐานคาร์บอนเครดิตสากลอื่นที่เป็นนที่ยอมรับทั่วไป
ทั้งนี้ ต้องไม่นำไปหาประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของคนใดหรือกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ หรือ ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“ยังไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าของการระดมทุนได้ เพราะกำลังทำอยู่ ถ้าสรุปเงื่อนไขออกมาแล้ว น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น”นายเอนก กล่าว
นายเอนก กล่าวว่า แนวโน้มของการลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นทิศทางที่ประเทศกำลังสนับสนุนให้เกิดขึ้น ซึ่งไทยมีการสนับสนุนให้เกิดการประกอบธุรกิจที่เน้นแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาลหรือ ESG ในส่วนของตลาดทุนสนับสนุนให้เกิดการระดมทุนผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) นำไปลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายในการทำธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนและดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ให้ผู้ลงทุนได้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึง 3 แสนบาท
ล่าสุดข้อมูลถึง 6 พ.ย.2567 มีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 26 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหาร (NAV) 10,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 และคาดว่าในช่วงที่เหลือจะมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเข้ามาอีก
นอกจากนี้ ตลาดทุนไทยยังเปิดให้ผู้ประกอบการระดมทุนผ่านการออก ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาสังคม การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึง 30 ก.ย.2567 มีมูลค่าถึง 112,373 ล้านบาท โดยไตรมาส 3 ของปีนี้ระดมทุนมากที่สุด ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง แต่อาจจะต่ำกว่าปี 2566 ที่สูงถึง 193,793 ล้านบาท เพราะตราสารดังกล่าวจะมีอายุยาว
———————————————————————————————————————————————————–