HoonSmart.com>>”ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม”(PTTEP) เล็ง 4 ปีข้างหน้า (2571) กำลังการผลิต 8 แสนบาร์เรล/วัน เน้นขยายฐานต่างประเทศเป็นหลัก พร้อมวางเป้าปี 67 ปริมาณขายรวม 5.01 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่มี 4.6 แสนบาร์เรล ราคาก๊าซคาดว่าจะรักษาได้ 5.9 เหรียญสหรัฐ/MMBTU ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ส่วนต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) คาดอยู่ที่ 29-30 เหรียญสหรัฐ โดยไตรมาส 4 คาดว่า Unit Cost จะลดลงจากไตรมาส 3 สำหรับ EBITDA Margin ยังอยู่ในระดับสูง 70-75%
นายเสริมศักดิ์ สัจจะวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า ใน 4 ปีข้างหน้า (2571) บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ถึง 8 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะเน้นงานในต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะขยายสัดส่วนต่างประเทศเป็น 45% จาก 9 เดือนที่ผ่านมาปีนี้ กำลังการผลิตมี 7 แสนบาร์เรลต่อวัน แบ่งในประเทศ 68% ต่างประเทศ 32% โดยโครงการต่างประเทศบริษัทได้ลงทุนไป 11 ประเทศ ผ่าน 34 สัญญา ทั้งสัญญาที่เป็นสัมปทาน และสัญญาที่เป็นแบ่งปันผลผลิต แบ่งเป็น 3 Hub ใหญ่ ทางมาเลเซีย เมียนมา ตะวันออกกลาง ซึ่งมีการเติบโตมาโดยตลอด การเติบโตในต่างประเทศจะเป็นการขยายฐานธุรกิจของ PTTEP ต่อ
สำหรับเป้าหมายปี 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผน และสรุปข้อมูลทั้งหมด คาดว่าจะให้ข้อมูลแก่นักลงทุนได้ในกลางเดือนธ.ค.ปีนี้ อย่างไรก็ดี ภาพรวม PTTEP มีการรับผลิตจากไทย, เมียนมา, มาเลเซีย และตะวันออกกลาง ซึ่งจะมีการเร่งรัดโครงการพัฒนา Waset, Ghasha ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกพอควร โดยที่ผ่านมาปีหนึ่งบริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 6-7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทจะโฟกัสไปฝั่งตะวันออกกลาง ในการเร่งรัดค้นพบแหล่งปิโตรเลียมทั้งในการสำรวจ และพัฒนา ทางโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยล่าสุด UAE ได้ลงทุนสำรวจแหล่งชายทะเลฝั่งตะวันตกที่อาบูดาบี เป็นโครงการ Offshore 1, 2, 3 ซึ่ง Offshore 1 อยู่ในขั้นตอนสำรวจ และประเมินศักยภาพ ส่วน Offshore 2 จะมีโครงการ Waset เป็นโครงการก๊าซ ที่ได้รับอนุมัติแผนพัฒนาการลงทุนจากรัฐบาลแล้วในเดือนก.ย. คาดว่าจะลงทุนได้ในปีหน้า (2568) และจะเร่งรัดผลิตในปีถัด ๆ ไป ด้าน Offshore 3 ทาง PTTEP ได้ร่วมลงทุนกับแหล่ง Ghasha โดย PTTEP เข้าถือ 10% ซึ่งจะเป็น 9 แหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพ และมีการความชัดเจนในการพัฒนา ซึ่ง UAE สามารถให้การผลิตได้ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับโอมาน ทาง PTTEP ได้ลงทุนไประยะหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะ Block 6 และ Block 61 ทั้งโอมาน และ UAE ที่เข้าไปลงทุนเป็น Upstream
ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันจะมีอยู่ 1,200 ล้านบาร์เรล ซึ่งในนี้จะมีก๊าซกว่า 70% สามารถรองรับการผลิตได้ 6.2 ปี โดยการลงทุนสำรองมีรอพัฒนาต่อในโครงการ G2 ซึ่งสามารถรองรับการผลิตได้ 10 ปี
สำหรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของ PTTEP ปกติบริษัทจะมีการจ่ายอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ขึ้นกับผลดำเนินงานทั้งปี ปีนี้กำลังการผลิตของบริษัทโต 7-8% ทำให้บริษัทยังคงเป้าจ่ายเงินปันผลระดับเดิม ทั้งนี้นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิ และจากการพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถจ่ายปันผลได้ 40-50% มากกว่านโยบายที่วางไว้
น.ส.อารดา วิชญวาณิช ผู้จัดการ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ PTTEP เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทมีเป้าหมายปริมาณขายรวม 5.01 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มี 4.6 แสนบาร์เรล ราคาก๊าซคาดว่าจะรักษาได้ 5.9 เหรียญสหรัฐ/MMBTU ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันโลกด้วย ส่วน Unit Cost คาดว่าจะอยู่ที่ 29-30 เหรียญสหรัฐ โดยไตรมาส 4 คาดว่า Unit Cost จะลดลงจากไตรมาส 3 สำหรับ EBITDA Margin ยังอยู่ในระดับสูง 70-75%
ในไตรมาส 3 ปริมาณขายน้ำมัน 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยหลักก็จะมาจากภูมิภาคคือ ในไทย เมียนมา และมาเลเซีย และในตะวันออกกลาง ก็คือ โอมาน และ UAE และจะมีการผลิตน้ำมันดิบในแอฟริกาด้วย ก็คือ ในประเทศแอลจีเรีย รวมถึงมีโครงการพัฒนาที่สำคัญ ในโมซัมบิก คาดวาจะกลับเข้าพื้นที่ได้ในต้นปีหน้า (2568)
สถานการณ์ตลาดในส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ 79 เหรียญ ลดลงจากไตรมาส 2 ที่อยุ่ 85 เหรียญ หลัก ๆ มาจากแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว โดยในด้านอุปสงค์ทาง UAE ก็ได้ปรับลดประมาณการความต้องการใช้น้ำมันปีนี้ลงจาก 1.1 ล้านบาร์เรล มาที่ 9 แสนบาร์เรล/วัน โดยหลักมาจากเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่แม้จะลดดอกเบี้ย แต่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจโลกในระยะยาวได้ และส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบ ด้านอุปทานแนวโน้มน่าจะตรึงตัวมากขึ้นในไตรมาส 4 เนื่องจากทางกลุ่มโอเปกยังขยายระยะเวลาการเพิ่มกำลังการผลิต และยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน อย่างเช่นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สถานการณ์ตะวันออกกลาง เป็นต้น
ส่วนราคาก๊าซ LNG ในไตรมาส 3/67 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 13 เหรียญสหรัฐ/MNBTU มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุง โครงการ LNG หลักในออสเตรเลีย รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลด้านอุปทาน ทำให้มีการสำรอง LNG มากขึ้นในประเทศต่าง ๆ และเพื่อไว้ใช้ในฤดูหนาวด้วย ทำให้ LNG ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคา LNG ในครึ่งหลังปีนี้ไม่น่าจะกลับไปสูงเหมือนในปี 2565 โดย PTTEP คาดว่า Spot LNG ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 12 เหรียญสหรัฐ/MMBTU