HoonSmart.com>>คลัง คาดปี’68 เศรษฐกิจโต 3% จาก 2.7% พลังใหญ่มาจากการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงภาคเอกชนฟื้นตัวเป็นบวก 2.3% จากปี’67 ติดลบ 1.9% การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐพุ่งเป็น 4.7% จาก 0.8% ค่าเงินบาท 32.7 – 33.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 6.4%
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2568 ว่าจะเติบโต 3% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะโต 2.7% การลงทุนจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยได้รับแรงหนุน จาก2 ปัจจัยหลักได้แก่ การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% ต่อปี(ช่วงคาดการณ์ที่ 1.8% ถึง 2.8%) ขยายตัวเร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ
การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.7% ต่อปี(ช่วงคาดการณ์ที่ 4.2% ถึง 5.2%) จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน
นอกจากนี้ คาดว่าบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.9% ต่อปี(ช่วงคาดการณ์ที่ 2.4% ถึง 3.4%) ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 2.9% ตามอุปสงค์ใน
ตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จำนวนนักท่องเที่ยวท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอยู่ที่ 39.0 ล้านคน โดยจะรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 1.0% รักษาการเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.7% ของจีดีพี
ด้านค่าเงินบาทปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 32.7 – 33.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 6.4%
สำหรับ การดำเนินนโยบายการคลังปี 2568 เน้นรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal Discipline and Stability) ผ่านการบริหารจัดการรายได้และรายจ่ายภาครัฐควบคู่กับการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืน ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนผ่านมาตรการทางการคลังและภาษี ยกระดับพัฒนาทุนมนุษย์และความเข้มแข็งทางการเงินภาคครัวเรือน ให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการจัดการหนี้สิน
ทั้งนี้ ในปี 2568 มี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด ประกอบด้วย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตวัสูงขึ้น การแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาและความกังวลเรื่องข้อพิพาทในสิทธิของกองทัพเรือจีนกับรัสเซียในทะเลจีนใต้ การขยายบาทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ BRICS การรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศ CRINK (จีน รัสเซียอิหร่าน และเกาหลีเหนือ) ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐอเมริกาในเรื่องระเบียบโลกใหม่
ผลการเลือกประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ปัญหาหนี้ครัวเรือน และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมในหลายจั
งวัด