SCC เร่งเพิ่มกำไร-EBITDA-เงินสดปี’68 ลุยแผนสั้นและยาว ตัดขายบริษัท-ธุรกิจขาดทุน

HoonSmart.com >>”ปูนซิเมนต์ไทย” (SCC) รอดชัวร์!! แก้เกมวิกฤต ทั้งแผนระยะสั้นลดเงินทุนหมุนเวียน 1 หมื่นล้านบาทหั่นต้นทุน 5,000 ล้านบาท ตัดขายบริษัท-ธุรกิจ หยุดเดินเครื่อง LSP ลดขาดทุน เดินเกมระยะยาวทุ่มงบ 700 ล้านเหรียญลุยลงทุนโครงการอีเทน LSP หนุนกำไร EBITDA และกระแสเงินสดในปี 68 ภาระหนี้ไม่เพิ่ม เดินหน้าผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ตลาดอาเซียนโต ปิโตรฯเหนื่อยยาว หวังอสังหาฯจีนฟื้นปีหน้า ต้องการใช้ท่อ PVC กำไรไตรมาส 4 ลุ้นต่ำกว่า 3 คาดรายได้ปีนี้โตแค่ 3-4%

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCC)เปิดเผยว่า บริษัทปรับกลยุทธ์แก้เกมเศรษฐกิจรุมเร้า เดินหน้าแผนทั้งระยะสั้น-ยาว มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และรัดกุมยิ่งขึ้น หวังเพิ่มกำไร EBITDA และกระแสเงินสดในปี 2568 รวมถึงการไม่กลับมาเผชิญปัญหาหนักๆในอนาคตอีกต่อไป ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้ปรับลดยอดขายเหลือเติบโต 3-4% ไม่ถึง 5% และกำไรในไตรมาส 4 มีโอกาสต่ำกว่าไตรมาส 3 ที่มีกำไรรายการพิเศษ 1 ครั้ง แม้มียอดขายดีขึ้นก็ตาม

” เราต้องทำ ไม่นั้นไม่รอด เพราะยังมีความท้าทายสูงต่อเนื่องปัจจัยเสี่ยงมากมาย  เตรียมรับมือสงครามขยายตัว สงครามการค้ารอบใหม่ ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ว่าใครชนะ  การกีดกันการค้ากับจีนก็มีต่อไป จีนต้องหันมาค้าขายสินค้าในภูมิภาค หลายประเทศเข้ม ไทยเข้ามาได้ง่าย ขณะที่เศรษฐกิจโลกผันผวนรุนแรง วัฏจักรปิโตรเคมีทั่วโลกอ่อนตัวลากยาวกว่าที่คาด และค่าเงินบาทผันผวน ทำให้กำไรเรามีปัญหา ไตรมาส 3/2567 ทำได้เพียง 721 ล้านบาท ลดลงถึง 70%  เรา run และให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด และ EBITDA ซึ่งไตรมาส 3 EBITDA  ลดลงเพียง10%  จึงต้องเร่งให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการประหยัดและตัวเบาลง” นายธรรมศักดิ์ กล่าว

สำหรับแผนระยะสั้น ประกอบด้วย
1. มุ่งลดต้นทุนทั้งองค์กรให้ได้ 5,000 ล้านบาทภายในปี 2568
2. ลดเงินทุนหมุนเวียนลง 10,000 ล้านบาท ให้ได้ภายในไตรมาสแรก
3. ยกเลิกกิจการที่ไม่ทำกำกำไร เช่น SCG Express และธุรกิจด้านดิจิทัลเทคโนโลยี OITOLABS ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกิจการที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิก จึงยังสรุปไม่ได้ว่าจะผลดีอย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อย ไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนของธุรกิจเหล่านั้นอีกต่อไป

4. ขายสินทรัพย์ (Asset Divestment) เพิ่มความคล่องตัวและมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพประกอบกับยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รักษา EBITDA ให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนโรงงานปูนชีเมนต์ในไทย 50% ภายในปีนี้ การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Automation) ผลิตกระเบื้อง แม่นยำ รวดเร็ว ลดวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม SCC มีการลงทุนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายเติบโต 10%  จากประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย  แนวโน้มยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

ส่วนแผนในระยะยาว เรื่องกรีน Inclusive Green Growth ยังเป็นโอกาสและความได้เปรียบทางธุรกิจ บริษัทฯ เตรียมเร่งลงทุนโครงการการใช้ก๊าซอีเทนที่โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ที่เวียดนาม (LSP) ลดต้นทุนวัตถุดิบ ด้วยงบลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก ทั้งยังช่วยลดคาร์บอนไดออกไซต์ในกระบวนการผลิต ซึ่งการนำเข้าจากสหรัฐมีต้นทุนถูกกว่าการใช้แนฟทาและโพรเพน คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จปลายปี 2570  โดยการลงทุนครั้งนี้จะต้องไม่เพิ่มภาระหนี้ ปัจจุบันอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจมุ่งบริหารจัดการการผลิตของโรงงานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) โรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) และโรงงาน LSP ให้เหมาะสมกับราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขันสูงสุด

สำหรับโครงการ LSP เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา และสามารถผลิตได้ 74,000 ตัน โดยเป็นยอดขายในช่วงทดลอง ซึ่งขณะนี้โรงงาน LSP ได้หยุดการเดินเครื่อง เพื่อบริหารต้นทุนธุรกิจ จะมีการประเมินการกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง เมื่อมาร์จิ้นดีขึ้น ได้ 400  เหรียญก็จะกลับมาผลิตใหม่ อย่างไรก็ตามแนวโน้มธุรกิจปิโตรฯยังมีความหวัง หลังจากจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์  หากกำลังซื้ออสังหาฯกลับมามีการก่อสร้างโครงการใหม่ มีความจำเป็นต้องใช้ท่อ PVC รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาจส่งผลให้ราคาขายดีขึ้น เหมือนกับที่ราคาเคยเร่งตัวขึ้นในช่วงที่จีนเพิ่งประกาศมาตรการต่างๆ ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันยังมีความท้าทายจากสถานการณ์วัฏจักรปิโตรเคมีขาลงนานกว่าที่คาด กำลังการผลิตใหม่ เเละความต้องการเคมีภัณฑ์โลกชะลอตัว

ส่วนการผลักดันวัตกรรมกรีน มูลค่าเพิ่มสูงยังคงมีต่อไป  อาทิ ปูนคาร์บอนต่ำ เจนเนอเรชัน 2 ได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่อง ส่งออก 3 ล้านตัน  มีสัดส่วนการใช้ทดแทนแบบเดิม 86% ตั้งเป้าโต 100% ในปี 2568 , พลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMER เติบโตต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างของไทยยังชะลอตัว จากงานโครงการที่ชะลอตัว และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ เร่งต่อยอดเทคโนโลยีก่อสร้างด้วย 3D Printing และพัฒนาวัสดุที่สามารถแข็งตัวและให้กำลังอัดคล้ายกับปูนซีเมนต์ชนิดพิเศษ (Special Cementitious Materials) รองรับการผลิตขึ้นรูปในตลาดโลก ล่าสุด ลงนามร่วมกับบริษัท Samsung E&A ประเทศเกาหลีใต้ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว แม่นยำ ลดต้นทุนและวัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้าง รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะการนำ 3D Printing Mortar ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านคุณภาพ ด้วยวัสดุที่พัฒนาและจดสิทธิบัตรมากว่าสิบปี พร้อมสนับสนุนด้านคำปรึกษา (Technology Consultation) สามารถขึ้นรูปชิ้นงานที่มีความซับซ้อนสูง ไปจนถึงรูปแบบอาคารก่อสร้างหลายชั้น สำหรับใช้ในการก่อสร้างในประเทศซาอุดิอาระเบีย

ล่าสุด SCG International ได้ส่งมอบปูนมอร์ตาร์ล็อตแรกไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย พร้อมแผนขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (SAMEA) รองรับภาคธุรกิจและการก่อสร้างในภูมิภาค นอกจากนี้ ผลักดันโซลูชันตอบโจทย์ อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยรักษ์โลก “รถโม่เล็ก CPAC” เหมาะกับงานก่อสร้างในพื้นที่จำกัด ช่วยลดเสียงรบกวน และ ”คอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค” ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมมือกับ AP Thailand ใช้สำหรับงานก่อสร้างโครงการบ้านแนวราบกว่า 56 โครงการภายในปี 2567 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,112,600 กิโลกรัมคาร์บอน (Kg CO2) เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 117,116 ต้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ เอสซีจี ยังได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับสากล (Environmental Product Declaration – EPD) ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์สำเร็จรูปเสือมอร์ตาร์ ถือเป็นรายแรก ครอบคลุมปูนมอร์ตาร์ 10 ผลิตภัณฑ์ ปูนซีเมนต์เอสซีจีและเสือ รวม 8 ผลิตภัณฑ์ และคอนกรีตผสมเสร็จซีแพค 27 ผลิตภัณฑ์ (คอนกรีตผสมเสร็จ จะได้รับการรับรองในเดือน พ.ย. 2567) ลูกค้าสามารถนำไปก่อสร้างเป็นโครงการสีเขียวได้

เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล รุกตลาดค้าปลีกศักยภาพสูงสำหรับสินค้าและบริการเรื่องบ้านที่โตต่อเนื่อง ล่าสุด เร่งขยายโมเดิร์นเทรด Mitra 10 ในประเทศอินโดนีเซีย เปิดเพิ่มอีก 2 สาขาที่เมืองจาบาเบกา และซามารินดา โดยยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 4 แห่งภายในปี 2567 พร้อมเดินหน้าเสิร์ฟกลุ่มสินค้า House Brand ที่หลากหลาย ราคาเข้าถึงได้ ในช่องทางจัดจำหน่ายภายในประเทศ อาทิ กลุ่มสินค้าตกแต่ง แบรนด์ UNIX กลุ่มสินค้าเหล็ก แบรนด์ TOPSTEEL และกลุ่มอุปกรณ์เครื่องมือช่าง TOPPRO นอกจากนี้ คิวช่าง (Q-Chang) เเพลตฟอร์มศูนย์รวมช่างคุณภาพและบริการดูแลบ้านครบวงจร เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเครือข่ายช่างผู้เชี่ยวชาญกว่า 10,000 ราย ให้บริการลูกค้ามากกว่า 300,000 รายทั่วประเทศ รุกเสริมเเกร่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยครอบคลุมทุกความต้องการ พร้อมเปิดรับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่พร้อมร่วมมือสร้างศักยภาพการขยายธุรกิจ และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการและผลักดันการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศมากขึ้น ทำให้มีกำลังผลิตรวม 526 เมกะวัตต์ (MW) จากโครงการภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย ลงนามการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการ Solar Private PPA (Power Purchase Agreement) สำหรับการลงทุนติดตั้งโซลาร์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ โดยมีกำลังผลิตรวม 88.5 เมกะวัตต์ อีกทั้งการเชื่อมต่อด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Microgrid) มีแผนขยายผลในกลุ่มโรงงานบริษัทโตโยต้า ในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี สำหรับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด Rondo Heat Battery มีความคืบหน้าโครงการติดตั้งที่โรงงานปูนซีเมนต์ เอสซีจี จ.สระบุรี แล้วกว่า 45% ซึ่งดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และได้เริ่มการผลิตวัสดุกักเก็บความร้อน (Thermal Media) เก็บความร้อนของแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด (Heat Battery) คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องจักรได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2568

นายธรรมศักดิ์ กล่าวปิดท้ายว่า “ช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ ทุกภาคส่วนต้องรวมพลัง ช่วยเหลือกันและกัน สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา เอสซีจีร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมอบถุงยังชีพ 1,140 ถุง สุขากระดาษ 3,600 ชิ้น เตียงกระดาษ 20 หลัง ห้องน้ำสำเร็จรูป 6 ห้อง ตั้งโรงครัว ทำอาหารให้ชุมชน 8 แห่ง สนับสนุนวัสดุซ่อมแซมโรงเรียน 15 แห่งในพื้นที่ประสบภัย

ส่วนภาคธุรกิจต้องเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้พร้อมรับมือกับกฎเกณฑ์ มาตรการที่เกี่ยวกับโลกร้อน นอกจากเอสซีจีจะจัดโครงการ Go Together ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการ SMEs ให้ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้จัดหลักสูตร NZAP (NET ZERO Accelerator Program) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้บริหารภาครัฐรุ่นใหม่ ให้เข้าใจนโยบายภาครัฐ กลไกการค้า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อติดอาวุธ ลดต้นทุน เพิ่มกำไร และเกิดอุตสาหกรรมสีเขียวควบคู่กับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

———————————————————————————————————————————————