ผถห.กู้ ACAP รวบหลักฐานส่งปปง. – อดีตผู้บริหารส่อเจตนาฉ้อโกง

HoonSmart.com >> ผู้ถือหุ้นกู้ ACAP รวบรวมหลักฐานเอาผิดอดีตผู้บริหารผู้บริหาร  เข้าข่ายเจตนาฉ้อโกง ส่ง ปปง.อายัดทรัพย์สิน ป้องกันความเสียหาย ตร.เร่งดำเนินคดีสอบสวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อนักลงทุน

 

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายนครินทร์ วงแหวน ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นกู้บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานและพยาน ยื่นต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชกรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำทุจริต แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของผู้บริหาร ACAP และบริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด กระทำความผิดตามพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยรองผกก.ฝ่ายสอบสวน บก.ปอศ.ได้รับแจ้งและรับร้องทุกข์ไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุด

นายนครินทร์ กล่าวว่า ได้รวบรวมความเสียหายจากผู้ถือหุ้นกู้ ACAP จำนวนกว่า 30 ราย พร้อมเอกสารจากพยานเพิ่มเติม ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ ACAP ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้แก่ บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จำกัด เจ้าของสัญญาเช่าในโครงการเดอะพีเพิล พาร์ค คอมมูนิตี้ มอลล์ และบริษัท โอริออน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยบริษัท พีเพิล โซไซตี้ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหาร ACAP และบริษัท แคปปิตอล โอเค ในข้อหาลักทรัพย์ และปลอมแปลงเอกสารหลายรายการ เพื่อโอนทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหลักประกันของลูกหนี้ไปให้กับบริษัทในเครือ จนบริษัทได้รับความเสียหายถูกลูกค้าฟ้องร้อง และกระทบสิทธิการเช่าของลูกค้ารายย่อยให้โครงการเดอะพีเพิล พาร์ค คอมมูนิตี้ มอลล์ และผู้ซื้อโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทโอริออนฯ

นอกจากนี้ จะดำเนินคดีตามมูลฐานความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ปกปิดข้อความจริงอันควรแจ้งแก่นักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ ACAP โดยอ้างว่าไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ ทั้งที่มีเอกสารแสดงข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้บางรายมีการชำระให้กับ ACAP ไปแล้ว ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้ ACAP ที่บริษัทนำเงินจากนักลงทุนมาปล่อยกู้ แต่ไม่ได้รับเงินคืนจากการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ ACAP ฟื้นฟูกิจการ โดยมี ACAPเป็นผู้ทำแผน ส่อถึงความฉ้อฉล ไม่โปร่งใส มีการโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับบริษัทลูก ทำให้ผู้ซื้อหุ้นกู้ได้รับความเสียหาย จากการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ มูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท

นายนครินทร์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้เดินทางไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยกลุ่มนักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ ACAP ที่ได้รับความเสียหาย ได้ร่วมกันนำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และเอกสารต่าง ๆ มอบให้ปปง. เพื่อประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอายัดทรัพย์สินและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหาร ACAP เพื่อไม่ให้นักลงทุนได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้นจากการทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทที่ไม่โปร่งใส และมีเจตนาฉ้อฉลผ่องถ่ายทรัพย์สินไปยังบริษัทในเครือ

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP จะมีการนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ย. 2567 นี้ โดยบริษัท โอเค แคช จำกัด บริษัทลูกของ ACAP และเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการได้ส่งหนังสือขอซื้อหนี้หุ้นกู้จากนักลงทุน ในอัตราส่วน 40% จากยอดหนี้ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อนำไปเป็นเสียงข้างมากในการประชุมแผนฟื้นฟูกิจการ หากปล่อยให้แผนฉ้อฉลปกปิดข้อมูลนำเสนอต่อศาลล้มละลายกลางดังกล่าวผ่าน โอกาสที่นักลงทุนจะได้รับชำระคืนหนี้หุ้นกู้จะเกิดความเสียหาย ไม่ได้รับเงินคืนหรือไม่ครบถ้วน

“แนวโน้มการดำเนินคดีเป็นไปในทิศทางที่ดี และมีประโยชน์ต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ ACAP ทุกราย หลังจากมีผู้เสียหาย และลูกหนี้ของ ACAP ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม มาร่วมเป็นพยาน และชี้ให้เห็นถึงเจตนาของอดีตผู้บริหาร ACAP ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ต้องการผ่องถ่ายทรัพย์สิน และปกปิดข้อเท็จจริงที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนจำนวนมาก เข้าข่ายความผิดมูลฐานการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหาร ACAP ต่อไป” นายนครินทร์กล่าว