รู้จัก MPJ ผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร เสือนอนกินลานตู้คอนเทนเนอร์

HoonSmart.com >> รู้จัก  !! เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ (MPJ) ธุรกิจที่โบรกเกอร์ชูจุดเด่น เป็นธุรกิจเสือนอนกินบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่ของไทย จากตระกูลรถขนส่งสินค้ารายใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก้าวสู่ผู้นำธุรกิจบริการโลจิสติกส์ครบวงจรของไทย พร้อมเข้าตลาด mai 6 พ.ย.นี้ เร่งสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงรองรับไทยฐานผลิตระดับโลก

ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ไทยเป็นฐานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการย้ายฐานผลิตมาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ถือเป็นโอกาสของธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ และเป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ (MPJ) ในฐานะผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร ของภาคตะวันออก  ที่มีลานตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 100 ไร่ ที่เรียกได้ว่าเป็น “ธุรกิจเสือนอนกิน” ที่เก็บเงินสดทุกวัน

จากธุรกิจรถขนส่ง สู่ผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร

นายจีระศักดิ์ มานะตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MPJ กล่าวว่า ธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวเป็นผู้ให้บริการรถขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เน้นขนส่งปูนและอ้อยเป็นหลัก เมื่อเวลาผ่านไปการขนส่งอ้อยปรับตัวลดลง จึงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยแยกจากธุรกิจครอบครัวมาตั้งบริษัท MPJ เพื่อให้บริการรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือไปยัง IDC ลาดกระบัง เริ่มต้นด้วยรถหัวลาก 50 คัน ปัจจุบันมีจำนวน 237 หัวลาก และขยายธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจร โดยดำเนินธุรกิจมากว่า 16 ปีแล้ว

ปัจจุบัน MPJ มี 4 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1, บริการขนส่งทางบกต่อเนื่องกับท่าเรือ คิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้ 2. บริการด้านการบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์ 30% ของรายได้ 3. บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) 15% และ 4. บริการให้เช่าคลังสินค้าอีกประมาณ 5% โดยธุรกิจที่โบรกเกอร์ระบุว่าเป็นเสือนอนกิน คือธุรกิจบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจเงินสด และมีกำไรสูง จากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านตู้ต่อปี และถือเป็นรายเดียวที่มีการบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง รวม 2 ลาน พื้นที่รวมกว่า 100 ไร่ และมีแผนขยายลานตู้เพิ่มเติม

“ธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์ เป็นธุรกิจเงินสดที่มีรายได้หมุนเวียนทุกวัน แตกต่างจากธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีการให้เครดิต และมีกำไรสูงในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50 – 60% โดยรายได้จากการบริหารลานตู้จะมีทั้งค่าผ่านลาน ค่ายกตู้ ล้าง ซ่อม และค่าฝากเป็นรายวัน ยิ่งมีตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนมากเท่าไหร่ รายได้ยิ่งมากขึ้น และแนวโน้มการนำเข้า-ส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัว เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจเพิ่มเติม” นายจีระศักดิ์กล่าว

ระดมทุนขยายลานตู้เพิ่มเสริมแกร่ง

สำหรับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ นายจีระศักดิ์ กล่าวว่า ต้องการนำเงินไปขยายธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มเติม โดยมองหาพื้นที่ในกรุงเทพฯ บริเวณลาดกระบัง เพื่อรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รองรับโอกาสการเติบโตในอนาคต พร้อมทั้งขยายธุรกิจบริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพิ่มเติม โดยจะขยายตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป จากเดิมที่เน้นตลาดเอเชียเป็นหลัก ปัจจุบันบริษัทฯ เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับบริษัท โอ เอ็ม ดิโพ (OM) ผู้ให้บริการสายการเดินเรือรายใหญ่ของฮ่องกง ผู้ให้บริการสายเรือ OOCL และ COSCO ทำให้ MPJ ก้าวสู่ผู้นำธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรรายเดียวของไทย

ทั้งนี้ MPJ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 53 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท กำหนดราคา IPO ที่ 6 บาท กำหนดวันจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค.67 โดยได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เป็นผู้จัดการจำหน่ายหุ้น IPO พร้อมผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 6 พ.ย. 2567 นี้

สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้ 910 ล้านบาท และมีกำไร 80 ล้านบาท โดยในงวด 6 เดือนของปี 2567 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 456 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 38.38 ล้านบาท คาดว่าปี 2567 รายได้จะแตะระดับ 1,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2568 – 2569 ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี จากการขยายธุรกิจลานตู้ ให้เช่าคลังสินค้า รวมถึงขยายบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศยุโรปต่อไป