SCGP คาดรายได้ปีนี้ทำได้ต่ำกว่าเป้า 1.5 แสนลบ. งบลงทุนปีหน้า 1.3 หมื่นล้าน

HoonSmart.com>>”เอสซีจี แพคเกจจิ้ง”(SCGP) คาดรายได้ปีนี้ทำได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.5 แสนล้านบาท แต่มั่นใจโต YoY แน่ เล็งไตรมาส 4 ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษสูงขึ้น พร้อมแย้มครึ่งแรกปี 68 ผลงานดีกว่าครึ่งหลังปี 67 หลายปัจจัยเกื้อหนุน พร้อมตั้งงบลงทุนปีหน้า (2568) ไว้ 13,000 ล้านบาท จะมุ่งเน้นกลยุทธ์เพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพของธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย และเพิ่มการเติบโตธุรกิจปลายน้ำด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร และ M&P และขยายการเติบโตของบรรจุภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคที่มีศักยภาพการเติบโตสูง และดำเนินกลยุทธ์ส่งออกไปตลาดใหม่ ๆ

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่า รายได้ปีนี้ (2567) คาดว่าจะทำได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.5 แสนล้านบาท แต่มั่นใจว่าปีนี้จะเติบโตจากปีที่ผ่านมา (YoY) อย่างแน่นอน โดยไตรมาส 4 ความต้องการในภูมิภาค (Domestic Demand) มีโอกาสมากขึ้น จากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี ซึ่งมองว่าในเดือนต.ค.-พ.ย.ความต้องการจะไปได้ดี แต่ในเดือนธ.ค.มีวันหยุดมากทำให้การสั่งของลดลงได้ และแนวโน้มต้นทุนกระดาษน่าจะลดลงในไตรมาส 4 จากที่ไตรมาส 3 ต้นทุนกระดาษสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวของจีนจะเป็นอย่างไร จากที่ผ่านมาตลาดจีนยังไม่ฟื้น

“ปกติบริษัทจะส่งออกไป 16-17% แต่จะส่งออกไปจีน 6% ซึ่งที่ผ่านมาวอลุ่มจากจีนน้อยลง และเงินบาทก็แข็งค่า แต่บริษัทก็มีเป้าหมายที่จะหันไปส่งออกตลาดอื่นนอกจากจีน และยังมีแนวทางการปรับพอร์ตโฟลิโอขยายตลาดไปพื้นที่อื่น…ไทย และเวียดนาม มีการใช้ Pacakaging Paper ในประเทศเยอะ แต่อินโดนีเซีย ใช้ในประเทศน้อย ส่วนใหญ่ส่งออกไปจีน ซึ่งเมื่อ Demand จีนลดลง ทำให้วอลุ่มกระทบไปที่อินโดนีเซียมากกว่า”

อย่างไรก็ดี มีความมั่นใจว่าผลงานปีหน้า (2568) จะดีกว่าปีนี้ โดยเฉพาะครึ่งแรกปี 2568 จะดีกว่าครึ่งหลังปี 2567 จากที่มีมาตรการภาครัฐเข้ามาสนับสนุน และจบการเลือกตั้งในสหรัฐ ไม่ว่าใครจะมาก็คงจะต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไป อีกทั้งเงินเฟ้อไทยก็ยังไม่ถึง 1% และกนง.ก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว และมีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยอีกในปีหน้า

แนวทางการดำเนินงานของปี 2567 และการมุ่งสู่ปี 2568 โดยการดำเนินงานภายใน ความต้องการกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในจีน เป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาดในภูมิภาคในช่วงไตรมาส 4/2567 และการปรับพอร์ตสินค้าเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกไปในประเทศเป้าหมาย อีกทั้งจะมุ่งเน้นกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพของธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย และเพิ่มการเติบโตธุรกิจปลายน้ำด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร และ M&P และขยายการเติบโตของบรรจุภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคที่มีศักยภาพการเติบโตสูงและดำเนินกลยุทธ์การส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ

ทั้งนี้ โอกาสและความท้าทายภายนอก อาเซียนยังคงขับเคลื่อนด้วยความต้องการภายในประเทศ และการฟื้นตัวของการส่งออก และการท่องเที่ยว โดยเวียดนาม และอินโดนีเซีย คาดว่าจะดีขึ้นจากฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและประชากรที่มีจำนวนมาก, เศรษฐกิจโลกเดินหน้าไปในจุดที่ดีขึ้นในครึ่งแรกขอปี 2568 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และเงินเฟ้อที่ลดลงเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน อีกทั้งความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นความเสี่ยงระดับโลกที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม อาเซียนที่มีความเป็นกลาง จึงทำให้มีศักยภาพในการเพิ่มโอกาสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการย้ายฐานการผลิต

SCGP จะเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย ด้วยแผนกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร, บริหารการเงินด้วยการพิจารณาการลงทุน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการทำงานระหว่างสายธุรกิจ และสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูงอย่างมีกลยุทธ์ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วยการขยายธุรกิจกลุ่มสินค้าที่เข้าถึงผู้บริโภค ควบคู่กับโซลูชันนวัตกรรมที่ยั่งยืน

นายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP กล่าวว่า ปีหน้า (2568) ตั้งงบลงทุนไว้ 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็น Growth CAPEX 8,000-10,000 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับการบำรุงรักษา รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต ESG นวัตกรรม และอื่น ๆ ประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท

สถานะการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่ง โดยเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร 10,296 ล้านบาท หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 64,974 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 4.1% (ม.ค.-ก.ย.2567) โดย CAPEX อยู่ที่ 27,569 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 การซื้อหุ้นของ Fajar เพิ่มอีก 44.48% เสร็จสิ้นเมื่อ 30 ส.ค.2567 โดยแหล่งเงินจำนวน 22,800 ล้านบาท มาจากเงินสด 8,400 ล้านบาท และเงินกู้ 14,400 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ 2.9%

———————————————————————————————————————————————