GULF-จีน ลงทุนโรงไฟฟ้าในลาว เซ็นขายไฟกฟผ.29 ปี COD ปี 76

HoonSmart.com>>”กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” (GULF)แจ้งโรงไฟฟ้าร่วมทุนจีน “Pak Beng” ในลาว กำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ เซ็นสัญญาซื้อขายไฟให้กฟผ.สัญญา 29 ปี คาด COD ปี 76 อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทฯและ China Datang Overseas Investment Co., Ltd. (CDTO) ในเครือ China Datang Corporation Ltd. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทพลังงานชั้นนำของจีนที่มีโครงการผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 170,000 เมกะวัตต์ครอบคลุม 13 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว ซึ่งจะทำการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้แก่ กฟผ.

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 Pak Beng Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และ CDTO ในสัดส่วน  49%และ 51% ตามลำดับ เพื่อดำเนินโครงการ Pak Beng ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อย โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลา 29 ปีนับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

สำหรับโครงการ Pak Beng มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นราว 100,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้กับสถาบันการเงิน คาดว่าจะสามารถปิดการจัดหาเงินกู้ได้ภายในปลายปี 2567 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8 ปี โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2576

โครงการ Pak Beng เป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลและสภาแห่งชาติ สปป.ลาว ซึ่งได้ลงนามสัญญาสัมปทาน (Concession Agreement) กับรัฐบาล สปป.ลาวไปเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 ถือเป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและสปป.ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสปป.ลาว(MOU) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) โดยภายใต้ MOU ประเทศไทยจะซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นใน สปป.ลาว และเชื่อมโยงผ่านระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกรอบปริมาณความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 10,500 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 5,935 เมกะวัตต์ จำนวน 11 โครงการ โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 3,060 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โครงการ และโครงการที่ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) แล้ว 815 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ

ความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาในระบบ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุรวมกว่าหมื่นเมกะวัตต์ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และยังตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อีกด้วย

การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ Pak Beng จะช่วยลดความผันผวนจากราคาเชื้อเพลิง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำตลอดอายุสัญญา เนื่องจากโครงการ Pak Beng มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 4-5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง อีกทั้ง ภายใต้ข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการ Pak Beng จะต้องมีการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงบุคลากร การจ้างงานและการบริการจากประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และยังเป็นไปตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ระบุไว้ในแผนรับซื้อไฟฟ้าของประเทศ

โครงการ Pak Beng เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-River) ไม่มีการกักเก็บน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งโครงการ Pak Beng ได้รับความเห็นชอบผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงเรื่องการระบายตะกอน ทางผ่านปลา การโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชนในบริเวณโครงการ Pak Beng ในสปป.ลาว และผลกระทบข้ามพรมแดน (Environmental and Social Impact Assessment : ESIA) จากรัฐบาลสปป.ลาว เป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ โครงการ Pak Beng ยังมีมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินโครงการ Pak Beng จะเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง