BBLเล็งปันผลปีนี้ไม่ต่ำกว่า 7 บาท ปั้นกำไรโต สยายปีก’อินเดีย’ ผู้นำเวอร์ชวลแบงก์

HoonSmart.com>>”ดร. กอบศักดิ์” ลั่นธนาคารกรุงเทพ (BBL) คว้าแชมป์กำไรสูงสุดไตรมาส 3/67 ยันปีนี้จ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 7 บาท/หุ้น กว่า 4% เดินหน้าหั่นต้นทุนผ่านลดสาขา-ตู้ ATM  สินเชื่อโต 3-4% ได้ตลาดต่างประเทศหนุน เล็งขยายไปอินเดีย หลังสำเร็จเพอร์มาต้า อินโดฯ ขึ้นแท่นผู้นำ “เวอร์ชวลแบงก์” พร้อมทุกด้าน นำธุรกิจใหม่ต่อยอดธุรกิจแบงก์  มองเศรษฐกิจไทยพ้นปากเหว ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงโลก ล่าสุดผู้บริหารพบนักวิเคราะห์ ยืนเชียร์ซื้อ ชี้เป้าสงสุด 196 บาท   

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพทำกำไรสุทธิไตรมาส 3/2567 ได้สูงสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลปีนี้ไม่ต่ำกว่า 7 บาทต่อหุ้น จากปีก่อนจ่ายได้ 7 บาท โดยพยายามเพิ่มขึ้นหากเพิ่มแล้วจะเพิ่มเลย พร้อมสร้างการเติบโตของกำไร ผ่านการสร้างรายได้และบริหารต้นทุน ลดจำนวนสาขา และตู้ ATM สอดรับกับพฤติกรรมลูกค้าที่ใช้บริการผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น

ในไตรมาส 3/2567 BBL มีกำไรสุทธิ 12,476  ล้านบาท เติบโต 9.92% จากช่วงเดียวกันปีก่อนปีก่อนและรวม 9 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 6.21% เป็น 34,807 ล้านบาท  ทั้งนี้หากธนาคารกรุงเทพจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 7 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนประมาณ 4.65% ต่อปี เทียบกับราคาหุ้นปิดที่ 150.50 บาท บวก 2.50 บาทหรือ+1.69% วันที่ 28 ต.ค.2567

ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อประมาณ 3-4% หรือมากกว่า 1% ของการเติบโตของ GDP ที่คาดไว้ 3% เนื่องจากไทยไม่มีการลงทุนโครงการใหญ่มากเหมือนที่ผ่านมา จึงปรับการอ้างอิงเป้าสินเชื่อโต 2 เท่าของ GDP เหลือ 1% ส่วนการขยายสินเชื่อปัจจุบันมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 25% โดยเฉพาะธนาคารเพอร์มาตา อินโดนีเซีย สินเชื่อจะโต 10% ที่มีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและขยายโรงงาน รวมถึงเวียดนามที่ GDP ขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้มองประเทศใหม่ เช่น อินเดีย พาลูกค้าออกไปหาโอกาสจากเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สามของโลก  GDP ขยายตัว 7% ต่อปี

ส่วนสินเชื่อในประเทศ ซึ่ง BBL เน้นธุรกิจขนาดใหญ่ยังเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากมีการลงทุนใหญ่ด้านเทคโนโลยี,ขอสินเชื่อสีเขียว เช่น โรงไฟฟ้า Low Carbon  และ ในการปรับตัวตามเกณฑ์การค้าขายต่างประเทศ ส่วนสินเชื่อรายย่อย SME ชะลอตัวจากปัญหาหนี้ครัวเรือน คาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นพงหนาม แต่ยังมีลูกระเบิดน่ากังวลใจ  2-3 เรื่อง ได้แก่ 1.ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2. เศรษฐกิจจีนยังไม่พ้นพงหนาม มีแต่อ่อนตัวลง หากรัฐไม่โยกหนี้ออกจากระบบ  ปัญหาก็ยังไม่จบ และ3. สถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อและขยายวงกว้างขึ้น   โดยไม่ห่วงเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย เพราะหลายประเทศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจแม้ว่าจะต้องใช้เวลาติดตามนาน ครึ่งหรือ1 ปีก็ตาม

“ธนาคารกลางต่างๆมีการแตะเบรค หากยังไม่ชนะเงินเฟ้อสามารถเหยียบได้แรงขึ้น  ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ลงลึกและลากยาว  เชื่อว่าอาเซียนมีการลงทุนสูงมาก แต่อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง คาด 5 ปีข้างหน้าภาพของอาเซียนจะเปลี่ยนไปมาก ในด้านความสามารถในเรื่องเทคโนโลยี นับเป็นโอกาสของธนาคารกรุงเทพ “ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) หรือ เวอร์ชวลแบงก์ ธนาคารกรุงเทพได้ยื่นขอใบอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย และมีความมั่นใจที่คิดว่าจะได้ใบอนุญาต 1 ใน 3 ใบ  จาก 3 เงื่อนไข ได้แก่ มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง มีฐานลูกค้าที่มีคุณภาพและมีความสามารถในการควบคุม NPL ขณะที่การลงทุนใน Virtual bank ปกติจะใช้เงินลงทุนสูงหลักหลายพันล้านบาท แต่คาดกลุ่มใช้เงินลงทุนไม่มากนัก  ไม่ต้องสร้างใหม่ ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่อง R&D เนื่องจากมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง มีระบบแล้ว อาทิ ช้อปปี้ที่มีฐานข้อมูลลูกค้าในมุมมกว้างและลึก  สหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย

“กลุ่มเรายื่นขอใบอนุญาตตั้ง “Virtual Bank” มั่นใจว่าไม่แพ้ใคร มีความพร้อมครบทุกด้าน ecosystem ทั้งระบบเทคโนโลยี Core Banking ไม่ต้องลงทุนใหม่ ฐานลูกค้าแน่น จัดการสินเชื่อและคุณภาพหนี้ สามารถนำธุรกิจนี้ไปต่อยอดธุรกิจธนาคารพาณิชย์ให้เติบโตและแข็งแกร่งได้เร็วขึ้น โดยแบงก์กรุงเทพยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ  รู้เรื่องตลาดระบบธนาคารและธปท.เป็นอย่างดี ”

ด้านผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ มีการประชุมร่วมกับนักวิเคราะห์ โดย  9 ใน 11 ยังคงแนะนำให้ซื้อหุ้น BBL 2 รายให้ถือ ไม่มีรายใดแนะนำขาย จากบทวิเคราะห์ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่  28 ต.ค.2567  โดยบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ให้มูลค่าเหมาะสมสูงที่สุดถึง 196 บาท ตามด้วย CGSI ให้เป้าหมาย  195 บาท และบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ราคา  190 บาท

บล.หยวนต้าฯให้น้ำหนักกำไรเงินลงทุนฟื้นตัวขึ้นตามตลาด ส่งผลให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเร่งตัวขึ้นเด่น 19.8%จากไตรมาส 2 และเริ่มลดสำรองลดลง 21.4% QoQ คิดเป็น Credit Cost ที่ระดับ 1.2% ต่ำลงจาก 1.5% ในไตรมาส 2 ปีนี้ แม้ตัวเลข NPL Ratio จะขยับขึ้นเป็น 3.9% จาก 3.6%  ส่วนใหญ่มาจากการตกชั้นของลูกหนี้เดิม(กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและค้าปลีก) ที่เคยพ้นจากสถานะ NPLs ไปแล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลง(Relapsed) ทำให้กำไรไตรมาสที่ 3 ดีกว่าที่เราและตลาดคาด 6.5% และ 9% ตามลำดับ

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิดีขึ้น ธนาคารมีการบริหารจัดการสภาพคล่องส่วนเกินที่ดีโดยการเพิ่มสัดส่วนของพอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้ NIM ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยช่วยชดเชยแรงกดดันจากการใช้นโยบายคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่

“กำไรสุทธิ 9 เดือน คิดเป็น 79.2% ของประมาณการเดิมทั้งปี คาดกำไรไตรมาส 4 จะชะลอลง QoQ ตามปัจจัยฤดูกาล ที่จะมีบันทึกค่าใช้จ่ายลงทุนพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานรวมถึงโบนัสพนักงานเพิ่มเข้ามา จึงคงคาดกำไรทั้งปี 2567 จำนวน 43,950 ล้านบาท โต 5.6% คาดจะมีปันผลจ่ายจากกำไรสุทธิครึ่งปีหลังหุ้นละ 4.9-5 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนราว 3.1%”บล.หยวนต้าระบุ

บล.ฟิลลิป คาดการตั้งสำรองในไตรมาส 4 อาจจะลดลงได้ หลังจากไตรมาส 3 BBL เป็นธนาคารเดียวที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ลดลง  ยังคงประมาณการกำไรปีนี้ 4.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 10% จากปีก่อนกำไรสุทธิ  4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนปีหน้าเพิ่มเป็น 4.7 หมื่นล้านบาท คาดปันผลทั้งปีนี้จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 7.50 บาท หรืออัตราผลตอบแทน 5.07% ปีหน้าเพิ่มเงินปันผลเป็น 7.75 บาท หรือ 5.24% จากปีก่อนจ่าย 7 บาทต่อหุ้นหรือ 4.73% คงราคาพื้นฐาน 169 บาท