ส่งออกก.ย.โตแค่ 1.1% หวัง Q4 New High 2.9 แสนล้านดอลลาร์ 

HoonSmart.com>>ส่งออกเดือนก.ย.โตเพียง 1.1% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 3% มูลค่าใกล้ 2.6 หมื่นล้านดอลล์ เกินดุล 2 เดือนติด หวังไตรมาส 4 โตดี มูลค่า New High  290,000 ล้านดอลลาร์ หนุนทั้งปีโตเกินเป้า 2% ด้านสภาผู้ส่งออกยันรับมือไหวค่าเงินบาทแข็งบริเวณ 33.50-33.80 บาท/ดอลลาร์ ชี้ 2 ปัจจัยเสี่ยงปี 68  ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะบานปลายหรือไม่

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานส่งออกเดือนก.ย. 2567 มีมูลค่า 25,983 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดโต 3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,589 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.9% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 394 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการเกินดุลการค้าเดือนที่ 2

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออก มาจากภาวะการค้าโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1  รวมถึงสินค้าเกษตร และอาหารมีแนวโน้มส่งออกโตได้ดี และคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามรอบวัฎจักร ส่งผลดีต่อสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต

ส่งส่งออกรวม 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 223,176 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.9%  นำเข้ามีมูลค่ารวม 229,132 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.5%ทำให้ไทยยังคงขาดดุลการค้าที่ 5,956 ล้านดอลลาร์

“มั่นใจว่าปีนี้ส่งออกมีโอกาสจะโตเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2%  และมูลค่าก็มีแนวโน้มจะทำ New High  290,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปี 2565 ที่เคยทำ New High ที่ 287,000 ล้านดอลลาร์”นายพูนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ การส่งออกเดือนก.ย.ที่ผ่านมาพบว่าทุกกลุ่มสินค้ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง  อาทิ สินค้าเกษตร ขยายตัว 0.2% ที่มูลค่า 2,370 ล้านดอลลาร์  ขยายติดต่อเป็นเดือนที่ 3  ซึ่งยางพารา, ข้าว และไก่แปรรูปขยายตัวดี

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.8% ที่มูลค่า 1,973 ล้านดอลลาร์ติดต่อเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกัน นำโดยไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป

สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 2% ที่มูลค่า 20,831 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6  ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์ขยายตัวได้ดี

สำหรับ 10 ตลาดส่งออกสำคัญในเดือน ก.ย.นี้ ได้แก่ อันดับ 1 สหราชอาณาจักร ขยายตัว 29.3% อันดับ 2 สหรัฐฯ ขยายตัว 18.1% อันดับ 3 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 15% อันดับ 4 ออสเตรเลีย ขยายตัว 12% อันดับ 5 แคนาดา ขยายตัว 9.1% อันดับ 6 CLMV ขยายตัว 8.3% อันดับ 7 สหภาพยุโรป ขยายตัว 4.1% อันดับ 8 ตะวันออกกลาง ขยายตัว 3.5% อันดับ 9 ไต้หวัน ขยายตัว 3.2% และอันดับ 10 แอฟริกา ขยายตัว 1.6%

ในทางกลับกัน ปัจจัยที่กดดันการส่งออกของไทย ได้แก่ การแข็งค่าของเงินบาท กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออก ทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปของเงินบาทลดลง  และภาวะเศรษฐกิจจีน ที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง

นายพูนพงษ์กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับความท้าทาย จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, เงินบาทแข็ง ,ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดีย  แต่ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น  ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล และฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี  อัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้ามีแนวโน้มลดลง จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออก ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น

” หากไตรมาสที่4 การส่งออกมีมูลค่า 22,533 ล้านดอลลาร์/เดือน ก็มีโอกาสที่ทั้งปี 67 จะโตได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2% มูลค่ามีโอกาสทำ New high ไปแตะ 290,000 ล้านดอลลาร์ได้ จากในปี 2565 ที่เคย New High ไปแล้วที่ 287,000 ล้านดอลลาร์” นายพูนพงษ์ ระบุ

แนวโน้มการส่งออกในปี 2568  ในเดือนพ.ย.67 กระทรวงพาณิชย์ จะนัดประชุมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกในทุกกลุ่ม เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ และแนวโน้มการเติบโตไว้ที่ระดับเท่าไร

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ส่งออกในเดือน ก.ย.นี้ มีมูลค่าสูงเกินกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์ เพราะทุกกลุ่มสินค้ายังอยู่ในโมเมนตัมที่ดี เชื่อว่าไตรมาส 4 จะดีกว่าไตรมาส 3  แต่ยังมีความกังวลเรื่องการขนส่งสินค้าทางเรือ ที่ยังไม่สามารถผ่านเข้าทะเลแดง และคลองสุเอชได้  ต้องอ้อมเส้นทางที่แอฟริกา  หากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไม่ขยายวงรุนแรงไปกว่านี้ ก็เชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะค่าระวางยังอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นปี และไม่มีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์  รองรับกับปริมาณคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีได้

ทางด้านเงินบาท ล่าสุดในช่วง  33.50-33.80 บาท/ดอลลาร์ ยังสามารถจะบริหารจัดการได้ แม้แข็งค่า เพราะการปรับตัวทั้งทำ forward และชักชวนให้มีการใช้ Local Currency ส่วนปี 2568 ยังมีปัจจัยที่ท้าทายการส่งออก  2 เรื่องหลัก คือ 1. ผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ 2.ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะบานปลายเพิ่มขึ้นหรือไม่

———————————————————————————————————————————————