HoonSmart.com>>รมว.คลัง แจง 5 ประเด็น ที่เครดิตประเทศไทยยังแข็งแกร่ง 1.หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ภายในประเทศ 2.รัฐบาลมีความต่อเนื่อง 3.ไทยเป็นเป้าหมายลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ 4.รัฐส่งเสริมการลงทุนใหญ่ในประเทศ 5.แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยช่วยตลาดทุนไทยมีทิศทางที่ดีไตรมาส 4 ยันเศรษฐกิจระยะยาวโต 3%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังพิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2567 (Prime Minister’s Insurance Awards 2024) ถึงกรณีที่มีการพูดถึงว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยชวนให้ดู 5 ประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย
1.หนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันอยู่ราว 63% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี และตั้งเป้าหมายไว้ว่าไม่ให้เกิน 70% ของจีดีพี ซึ่งหนี้สาธารณะ 63% ส่วนใหญ่เกิดจากการกู้เงินภายในประเทศ ซึ่งเป็นเงินที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศ ถ้าหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เกิดจากการกู้เงินต่างประเทศจึงจะมีปัญหา เมื่อถูกเรียกหนี้คืน
ในส่วนที่ยังขาดดุลอยู่นั้น ในเบื้องต้นจะพยายามให้ขาดดุลสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และในระยะยาวมีแผนที่จะทำให้เกิดความสมดุลให้ได้
นอกจากนี้ ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา เศรษฐกิจหลายๆ อย่างอยู่กับภาครัฐ ซึ่งธุรกิจที่รัฐบาลทำด้วยตัวเอง หนี้จะถูกนำมารวมอยู่ในหนี้ของภาครัฐ ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจจะอยู่ที่ภาคเอกชน ซึ่งตามมาตรฐานสากลที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กำหนด บางครั้งจะดึงหนี้ที่รัฐบาลลงทุนออกมาเป็นหนี้ธุรกิจ ไม่จัดเป็นหนี้ภาครัฐ จะทำให้หนี้สาธารณะจะต่ำกว่า 60% แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นว่าจะทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวมีการเติบโตต่อไปได้หรือไม่
2.รัฐบาลมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นใครมาก็ตามขอให้มีความต่อเนื่อง จะทำให้ภาพของประเทศไทยน่าเชื่อถือ หากรัฐบาลมีความต่อเนื่อง วันนี้จะเป็นวันที่ประเทศไทยถึงเวลาที่จะก้าวไปข้างหน้าได้แล้ว เพราะเครดิตของไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย มีสิ่งเดียวที่แตกต่างคือ ความชัดเจนของการลงทุนใหม่ ถ้าสามารถทำความชัดเจนนี้ขึ้นมาได้ ก็จะทำให้เชื่อได้ว่าการลงทุนจะมาแน่นอน
3.ยอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศในปี 2567 สูงสุดในรอบ 10 ปี ถ้านับย้อนหลังจากปี 2567 ถึงปี 2565 มีมูลค่าการลงทุน 2 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน หากสามารถอำนวยความสะดวกตามที่นักลงทุนต้องการได้ ก็จะทำให้เงินลงทุนทยอยเข้ามาได้เร็วกว่า 3 ปี เพราะเป็นธุรกิจสมัยใหม่ จากเดิมหลังจากที่ได้รับการอนุมัติแล้ว จะเริ่มมีการลงทุนในปีที่ 3
4.รัฐบาลมีการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ จะเห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายหลายอย่าง ที่ทำให้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะมีการนำโครงการขนาดใหญ่ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงกว่า 200 กิโลเมตร เชื่อมกับ 3 สนามบิน มูลค่าเงินลงทุนทางตรงร่วม 2 แสนล้านบาท ยังไม่รวมการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องในแต่ละสถานี และในสนามบิน เป็นโครงการที่จำเป็นต้องเกิด เพราะเป็นเส้นทางสำคัญที่จะสร้างการเติบโตระยะที่สองให้กับภาคตะวันออก และจะทำให้เกิดโครงการอื่นๆ ตามมาอีก นอกจากนี้ยังมีการลงทุนของกลุ่มดิจิทัลสตอเรจ คลาวด์ และหลายๆ อย่างส่วนใหญ่เป็นธุรกิจสมัยใหม่
ทั้งนี้ ภาครัฐกำลังพิจารณาอยู่ว่า การจัดตั้งกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนใหญ่ๆ จะมีแหล่งที่มาของเงินอย่างไร และจะทำอย่างไรโดยที่รัฐบาลได้ผลประโยชน์เท่าเดิม หรือไม่น้อยกว่าเดิม
5.จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และหลายๆ ประเทศมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน หากไม่มีเหตุการณ์ความไม่แน่นอนนอกประเทศเกิดขึ้นมา และทิศทางเงินเฟ้อไม่ปรับขึ้นแรง เชื่อว่าตลาดทุนไทยไตรมาส 4 ปีนี้จะเป็นไปในทางที่ดี เพราะต้นทุนการเงินลดลง ทำให้ Capital Gain เพิ่มขึ้น ต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่ธุรกิจการเงิน หรือภาคธนาคารของไทยในไตรมาส 3 มีกำไรที่ดี
ขณะที่ คนมีหนี้ก็จ่ายน้อยลง คนที่จะลงทุนใหม่หากสามารถแมชกับต่างประเทศได้ โอกาสที่เงินบาทจะแข็งก็ลำบากหน่อย ซึ่งเกื้อหนุนต่อเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้
นายพิชัย เชื่อว่า จากเหตุผลข้างต้น เชื่อว่าในระยะยาวเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้สูงกว่า 3% ต่อปี