HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงเทพ (BBL) คิดต่าง ลดดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก เริ่มเร็ว 24 ต.ค. MOR-MLR กด 0.20% MRR ลดเพียง 0.05% ส่วน 5 แบงก์หั่นเฉพาะดอกกู้ MOR ให้ 0.25% MLR-MRR ช่วย 0.125% มีผล 1 พ.ย.นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินลดดอกเบี้ยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ ช่วยลดภาระลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจเกือบ 1,300 ล้านบาท คาดสินเชื่อทั้งปีโตไม่เกิน 1.5% นักลงทุนทิ้งหุ้นแบงก์ร่วงยกแผงเจอ Sell on fact และลงตามตลาดผวา Bond Yield สูงขึ้น
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็น 1 ใน 6 ธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2567 เป็นต้นไป ขณะที่ธนาคารอีก 5 แห่งปรับลดเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้และมีผลวันที่ 1 พ.ย. 2567เป็นต้นไป
สูตรการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ก็แตกต่าง ธนาคารกรุงเทพให้ 0.20% สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) เหลือ 7.35%ต่อปี และ 6.90% ตามลำดับ เทียบกับ 5 แบงก์ที่ลดลง 0.25% ให้กับ MOR ส่วน MLR และ MRR ลดให้ 0.125%
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เพียง 0.05% เป็น 7.00% ต่อปี เพราะได้ปรับลด 0.25% ไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ธนาคารกรุงเทพได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากเพียงแบงก์เดียว ในส่วนลูกค้าบุคคลธรรมดา ประเภทสะสมทรัพย์ เป็น 0.25 – 0.30% ต่อปี เงินฝากประจำ 3 เดือน เป็น 1.00% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน เป็น 1.10% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน เป็น 1.45% ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน เป็น 1.70% ต่อปี และเงินฝากประจำ 36 เดือน เป็น 1.75% ต่อปี ส่วนเงินฝากสะสมทรัพย์ e-Saving วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท 1.50% ต่อปี และวงเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท 0.45% ต่อปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า ประมาณ 1 สัปดาห์หลังจาก กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ธนาคารพาณิชย์ต่างทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% ให้มีผลต้นเดือนพ.ย.นี้ เป็นหนึ่งในกลไกการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ปรับผ่อนคลายลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ตลาดสินเชื่อพร้อมๆ กับต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางไปจนถึงสิ้นปี 2567
“คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 40.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท (ผลของภาระดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงเฉพาะช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2567)”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์
อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจไม่มีผลทำให้ค่างวดผ่อนของลูกหนี้ในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลงทันที เพราะลักษณะสัญญา แต่ลูกหนี้จะได้รับอานิสงส์ในรูปของการปิดสัญญาหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น เพราะธนาคารจะเพิ่มยอดหักเงินต้นให้
สำหรับลูกหนี้ที่ต้องการลดภาระรายจ่ายโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องอาศัยการลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ร่วมด้วย โดย 3 ลำดับแรกของรายจ่ายครัวเรือน ได้แก่ หมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ หมวดที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน และหมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะและการเดินทาง ขณะที่ 3 ลำดับแรกของต้นทุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ได้แก่ หมวดวัตถุดิบ หมวดแรงงาน และหมวดค่าเช่าสถานที่ต่างๆ ซึ่งรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวล้วนเป็นหมวดที่ใหญ่กว่ารายจ่ายดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการเติบโตของสินเชื่อระบบแบงก์ไทยในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดอาจปิดโตไม่เกิน 1.5% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เริ่มปรับลดลงมาตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ ส่วนทั้งผู้กู้รายย่อยและภาคธุรกิจจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจในภาพรวมในระยะข้างหน้า ที่กระทบแผนการลงทุน การบริโภค รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ก่อนที่จะเบิกใช้สินเชื่อด้วยเช่นกัน
การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวของธนาคารพาณิชย์ และราคาหุ้นที่วิ่งนำการประกาศข่าวดีเรื่องกำไรเติบโตไตรมาสที่ 3/2567 รวมถึงการปรับตัวลงของตลาดหุ้นต่างประเทศเจอแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี (Bond Yield) ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 3 เดือน อยู่ที่ 4.2% และเงินดอลลาร์แข็งค่า กดดันเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้หุ้นแบงก์ร่วงระนาว และดัชนีหุ้นทรุดลง 18.42 จุด (-1.24%) ปิดที่ 1,470.32 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 57,008.04 ล้านบาท ฝีมือนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,645.26 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มตลาดในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น -1.39% ยกเว้นตลาดหุ้นจีน +0.54% และฮ่องกง +0.10% หลังจากธนาคารกลางจีนปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ลง 0.25% อยู่ที่ 3.1% และ 3.6% ต่อปีตามลำดับ ต่ำสุดในประวัติการณ์
ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มปรับลดสัดส่วนการกันสำรอง (RRR) ของธนาคารพาณิชย์ลงเพิ่มเติมที่ 0.25-0.50% และจะออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษเพิ่มเติมมูลค่า 1 – 2 ล้านล้านหยวน เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านโครงการ Trade-in และแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น หนุนเศรษฐกิจไตรมาส 4 เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 3 แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ GDP ทั้งปี 2567 โตเข้าเป้า 5.0% (ไตรมาส 4 ต้องเติบโตถึง 5.3-5.4%YoY)
ด้านหุ้นกลุ่มธนาคารลงยกแผง KTB ร่วง 3.27% ปิดที่ 20.70 บาท KBANK ติดลบ 2% ปิดที่ 147 บาท BBL ลง 1.95% ปิดที่ 150.50 บาท TTB -2.17% ปิดที่ 1.80 บาท SCB -0.88% ปิดที่ 113 บาท