HoonSmart.com>>สมาคมประกันชีวิตไทย เผยประกันชีวิต และ สุขภาพ หนึ่งในเครื่องมือวางแผนภาษีช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี ได้ทั้งความคุ้มครองควบสะสมความมั่งคั่ง
นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันแบบบำนาญ เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน ที่สามารถใช้เพื่อสะสมเงินออมและได้รับความคุ้มครองชีวิต และสุขภาพในเวลาเดียวกัน ถือเป็นการปูรากฐานให้กับชีวิตเพื่ออนาคตที่มั่นคง
รวมทั้ง ยังสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระในรอบปีสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะยะเวลาคุ้มครอง ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี โดยสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดถึง 100,000 บาท
สำหรับ ประกันภัยสุขภาพยังสามารถนำเบี้ยประกันภัยสุขภาพตามจำนวนที่จ่ายจริงมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาทโดยต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญได้สูงสุด 300,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้เมื่อนำไปรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนานาญราชการ (กบข.)กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เมื่อรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
นอกจากนี้ ประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยเงื่อนไขการหักลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นไปตามประกาศกรมสรรพากร