ประกันเผยทำงานในระบบดิจิทัลเต็มตัว ลูกค้ารับประโยชน์เต็ม-ต้นทุนธุรกิจยังสูง

HoonSmart.com>>ธุรกิจประกันภัยเผยยุคเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ (Full Digital) ลูกค้าได้รับประโยชน์แล้ว บริการรวดเร็ว ถูกต้อง รับลูกค้าได้ 1 ล้านรายแบบไม่สะดุด ตั้งแต่เสนอขายยันจ่ายเคลม อนาคตไปไกลถึงการคิดเบี้ยตามความเสี่ยงรายบุคคล เชื่อมโยงสายการบินรู้ไฟลท์ล่าช้าก่อนลูกค้าแจ้งเคลม ฟากบริษัทประกันชีวิตต้นทุนการดำเนินงานยังสูง เหตุบุคลากรยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ ด้านประกันวินาศภัยเผยอนาคตเตรียมเชื่อมระบบซื้ออะไหล่เป็นหนึ่งเดียวคาดลดต้นทุนได้ 10%

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต หัวข้อ ‘เสริมแกร่ง ลดต้นทุน ให้ระบบประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยสุดยอดเทคโนโลยีแห่งอนาคต’ว่า ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจในทุกขั้นตอนเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน ตั้งแต่การนำเสนอ การเข้าถึงบริษัทประกัน การให้บริษัท เรียกว่าเกือบทุกขั้นตอนเป็นดิจิทัลแล้ว มีเอไอ หรือ ปัญญาประดิษฐ์มาตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะ 1 ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาอาจไม่ใช่เพื่อทุกคนเหมือนในอดีตอีกต่อไป

ยกตัวอย่าง การนำมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจประกันชีวิต หากแยกลงไปในกลุ่มลูกค้าที่เป็นมนุษย์เงินเดือน จะพบว่ามีความน่าเป็นห่วงมาก เงินออมไม่พอสำหรับชีวิตเกษียณ คือ แก่แล้วแต่ยังไม่รวย ฉะนั้นแบบประกันต้องมีความหลากหลาย และราคาเบี้ยประกันก็จะต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงของแต่ละคน สินค้าพวกไฮบริดต้องเกิด ซึ่งต้องใช้คนและเอไอมาเติมเต็มคำตอบให้กับลูกค้าแต่ละรายในอนาคต แต่ก็ยังติดขัดเรื่องกฎเกณฑ์ของทางการบางอย่าง ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ต้องทำให้ธุรกิจประกันสามารถทำได้

“ผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าต้นทุนจะต่ำลงนั้นยังไม่เห็นผลชัดเจน เพราะคนของเราปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนทุกวันไม่ทัน ทำให้นำเทคโนไปใช้ไม่เต็มที่ outcome จึงไม่มา แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาแล้วก็ตาม “นายสาระ กล่าว

นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพยประกันภัย กล่าวว่า เรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจประกันวินาศภัย ไทยไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก ยกตัวอย่าง ประกันภัยนาข้าว ไทยเป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาจับคู่กับความเสี่ยง แล้วทำการคำนวณเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายได้ ไม่เหมือนในอดีตที่อัตราเบี้ยเดียวใช้กับทั้งอุตสาหกรรม

ขณะที่ การประกันภัยรายบุคคล ที่มีการขายความคุ้มครองการแพร่งระบาดเชื้อโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 1 ล้านรายออกกรมธรรม์ได้ทันที โดยที่ระบบไม่ล่ม หากเป็นอดีตจะต้องใช้พนักงานจำนวนมากในการกรอกข้อมูลลูกค้า และกว่าจะออกกรมธรรม์ได้ใช้เวลาเป็นวัน การประกันภัยรถยนต์สามารถทำเคลมเองผ่านแอพพลิเคชั่นได้เลย

“ในอนาคตอันใกล้ ในส่วนของประกันภัยการเดินทาง จะมีการเชื่อมกับสายการบิน เพื่อตรวจสอบความล่าช้า หากมีการดีเลย์หรือล่าช้า เกิน 3 ชั่วโมง เราจะรู้ทันที ไม่ต้องรอลูกค้าโทรมาแจ้ง เราก็เตรียมจ่ายสินไหมได้เลย หรือ ประกันภัยรถยนต์ ที่ปัจจุบันการซื้ออะไหล่เพื่อซ่อมรถลูกค้าต่างคนต่างซื้อ ต่อไปจะรวมเป็นศูนย์กลาง แล้วร่วมกันซื้อ จะช่วยลดค่าไหล่ได้ประมาณ 10% ของค่าอะไหล่ที่ซื้อกันแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 48,000 ล้านบาท”นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าววว่า อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีทันสมัยหรือมีไฮเทคแล้ว จะต้องมีไฮทรัสท์ด้วย เพราะผู้บริโภคก็ยังต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ต้องควบคู่กันไป ฉะนั้นที่ผ่านมาจะเห็นต่างชาติที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ รายใหญ่ เข้ามาในไทย แต่การใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพียงอย่างเดียวก็แข่งขันได้ยาก บุคคลากรของบริษัทต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับลูกค้าได้ด้วย

นางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ กล่าวว่า ฝั่งบริษัทนายหน้าประกันภัยหรือโบรกเกอร์จะนำเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายรูปแบบมาใช้เชื่อมต่อกับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย และเชื่อมกับลูกค้าในด้านของช่องทางการขาย การให้บริการหลังการจาย ช่วยให้มีโบรกเกอร์ที่มียอดขายระดับ 1,000 ล้านบาทเกิดขึ้นได้เร็วและมีจำนวนมาก จากอดีตที่มีโบรกเกอร์ยอดขายระดับพันล้านบาทน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม นับจากนี้เป็นต้นไป บริษัทนายหน้าประกันภัยไม่ได้เน้นเพียงยอดขาย หรือ ขายคล่องเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ให้การช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับอุตสาหกรรม และ ประชาชนด้วย

ยกตัวอย่าง การขายประกันอัคคีภัยของบริษัท ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะมีการขายให้กับหลายบริษัทประกันภัย เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของความเสี่ยง ทั้งบริษัทและลูกค้าก็ได้ประโยชน์ เมื่อเกิดเหตุก็มีบริษัทหลายๆแห่งเข้ามาดูแล ลูกค้าก็ได้รับการชดใช้เร็ว เพราะเมื่อเกิดเหตุลูกค้าไม่ได้ไปที่บริษัทประกันภัย แต่จะมาหาโบรกเกอร์ที่ขายให้ก่อน

“ยอมรับว่า ลูกค้าหรือตัวแทนขายไม่ได้ใช้ดิจิทัลทั้งหมด แม้ว่าเราจะใช้เงินลงทุนปรับปรุงพัฒนาระบบดิจิทัลปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และเข้าสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ แต่ outcome ที่ว่าจะช่วยลดต้นทุนนั้นยังไม่เกิด เพราะลูกค้ายังต้องการได้รับบริการจากพนักงานอยู่ ทำให้เราต้องหันไปเปิดจุดขายและจุดบริการถึง 8,000 จุด ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “นางนภัสนันท์ กล่าว