SRS โรดโชว์ เสนอขาย IPO 40 ล้านหุ้น ชูหุ้นน้องใหม่คอนซัลท์เทคฯ

HoonSmart.com>>บริษัท สิริซอฟต์ หรือ SRS” จัดงานโรดโชว์ ตามแผนเสนอขายหุ้น IPO 40 ล้านหุ้น โชว์วิสัยทัศน์ หุ้นคอนซัลท์เทคฯ  พร้อมเดินหน้าเสริมทัพบุคลากรไอที ขยายบริการและขยายฐานลูกค้า พร้อมชูผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง ปี 2563 – 2565 เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 137.37% ขณะที่ Backlog ในมือแน่นอยู่ที่ 525.64 ล้านบาท สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายสิริวัฒน์ ธนุรเวท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิริซอฟต์ (SRS) ที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับองค์กร ผ่านแนวทางการทำงานแบบ DevOps (Development & Operations) เปิดเผยว่า บริษัทจัดงานโรดโชว์วันนี้ เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบเกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินธุรกิจ จุดเด่น และโอกาสการเติบโตของบริษัทในอนาคต ก่อนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 40 ล้านหุ้น และจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะสนับสนุนให้ SRS เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ ก้าวสู่การเป็นบริษัทผู้ให้บริการ Information Technology Services รายใหญ่ของประเทศไทย

สำหรับผลการดำเนินการ 3 ปีย้อนหลัง (2563 – 2565) บริษัทเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 137.37% โดยมีรายได้จากการขายและบริการ อยู่ที่ 72.91 ล้านบาท 187.03 ล้านบาท และ 410.81 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 14.39 ล้านบาท 25.47 ล้านบาท และ 68.69 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 19.73% , 13.51% และ 16.67% ของรายได้รวม ตามลำดับ

ด้านผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 306.24 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 42.98%  แบ่งเป็นรายได้จากงานให้บริการ ซึ่งประกอบด้วย รายได้จากการให้บริการคำปรึกษาและพัฒนาระบบ รายได้จากการบริการบำรุงรักษาระบบ (Maintenance) และการบริการอื่นๆ สัดส่วน 63.03% และรายได้จากการขาย ซึ่งประกอบด้วย รายได้จากการขายสิทธิการใช้งานซอฟต์แวร์ และการขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง สัดส่วน 36.83% สำหรับกำไรสุทธิอยู่ที่ 47.34 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 15.47%

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 กลุ่มบริษัทมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 238 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ และฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์เป็นหลัก เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการตามจำนวนของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีงานในมือ (Backlog) ที่เติบโตต่อเนื่อง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ มี Backlog จำนวนรวม 525.64 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงานบริการมูลค่า 227.13 ล้านบาท และรายได้จากการขายมูลค่า 298.51 ล้านบาท โดยมีกำหนดส่งมอบงานภายในปี 2566 – 2568 เป็นต้นไป จำนวน 297.24 ล้านบาท จำนวน 165.79 ล้านบาท และ จำนวน 62.63 ล้านบาท ตามลำดับ

นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจากที่เราได้นำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน ต้องขอบคุณนักลงทุนที่ให้ความสนใจ SRS หุ้นน้องใหม่คอนซัลท์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้วยพื้นฐานของธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร และบุคลากรด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ และฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้ SRS มีการเติบโตที่มีนัยสำคัญ ตอบโจทย์ลูกค้าซึ่งมีแผนการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบัน SRS มีลูกค้าหลักในกลุ่มธุรกิจเอกชนที่ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจแบบดั้งเดิมสู่ธุรกิจดิจิทัล (Digital Transformation) เช่น กลุ่มสถาบันการเงินลูกค้า กลุ่มค้าปลีก หรือกลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดกลางและขนาดใหญ่ นอกจากนี้ลูกค้ายังมีความต้องการจัดหาเครื่องมือด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยจัดการระบบการทำงานแบบเดิมให้ทันต่อโลกยุคดิจิทัล  เงินระดมทุนครั้งนี้ จะสนับสนุนให้ SRS สามารถขยายการให้บริการในกลุ่มลูกค้าเดิม และสร้างฐานลูกค้าใหม่ ตอกย้ำ SRS คือหนึ่งในผู้นำที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับองค์กร ผ่านแนวทางการทำงานแบบ DevOps ที่เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต

นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)  ในฐานะเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม หรือ (Joint Lead Underwriter) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SRS จำนวน 40 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ และเตรียมเดินหน้ากำหนดวันที่จะเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งคาดว่าจะนำ SRS เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยี (Technology)

วัตถุประสงค์ในการนำเงินระดมทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO จะนำไปใช้พัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร จำนวนเงินโดยประมาณ 20 ล้านบาท นำไปใช้ในการสรรหาและพัฒนาบุคลากรในการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์ รวมถึงการขยายพื้นที่สำนักงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ จำนวนเงินโดยประมาณ 280 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจภายในปี 2566 – 2568

นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)  ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม หรือ (Joint Lead Underwriter) เปิดเผยว่า SRS มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก จากศักยภาพทางธุรกิจ ความเชี่ยวชาญในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยใช้ DevOps Culture เป็นแนวคิดที่ช่วยพัฒนาและดูแลลูกค้าในรูปแบบสมัยใหม่ และให้บริการออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์โดยใช้สถาปัตยกรรมแบบ Microservices ในการพัฒนา พร้อมด้วยศักยภาพในการทำงานและการบริหารบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน High Code ซึ่งมีความต้องการสูงในอุตสาหกรรม