บล.กรุงศรีหวังสูง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ศก.ปี’67 โต 5.4% ดันหุ้นใกล้ 1,750

HoonSmart.com>>รัฐบาล”เศรษฐา 1″นัดแถลงนโยบาย  11 ก.ย.66 สร้างความหวังให้กับภาคธุรกิจมาก หนุนหุ้นไทยบวก 1.58 จุดสวนทางเอเชียร่วงตามกังวลเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย บอนด์ยีลด์เพิ่ม-ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กดดันเงินบาทอ่อนปิด 35.59/61  บล.กรุงศรีมองข้ามช็อตนโยบายเติมเงิน Digital Wallet 10,000 บาท หนุนเศรษฐกิจปี 67 ทะยานขึ้น 5.4% ดัชนีหุ้น 1,750 จุด กกร.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้โตแค่ 2.5-3% ส่งออกฟื้นยาก บล.ธนชาตคาด 20 หุ้นได้ประโยชน์กำลังซื้อเพิ่ม 

วันที่ 7 ก.ย.2566 ตลาดหุ้นไทยบวก 1.58 จุด ปิดที่ระดับ 1,550.36 จุด สวนทางตลาดในภูมิภาคต่างปรับตัวลง นำโดยฮ่องกงรูดลง -1.34% หุ้นเซี่ยงไฮ้ลง -1.13% ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนซื้อหุ้นเก็บรอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล”เศรษฐา” นัดแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย.2566

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า ได้พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (กระเป๋าเงินดิจิทัล)  10,000 บาท/คน พร้อมให้คำแนะนำว่า เมื่อทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ระบบการเงินการคลังระยะกลางและระยะยาวของประเทศจะเป็นลักษณะใด เช่น ตัวเลขหนี้สาธารณะจะขึ้นลงอย่างไร

ด้านนายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า การเปิดตัวโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป การกระตุ้นการใช้จ่ายและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยใช้เม็ดเงินในการอัดฉีดกว่า 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะเริ่มในช่วงเดือนก.พ. 2567 และระยะเวลาในการใช้จะอยู่ที่ราว 2 ไตรมาส จะเร่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคถึง 6%  และอาจจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวได้ถึง 5.4% จากเดิมประมาณการพื้นฐานจะขยายตัวได้ 3.3% จากปีนี้ที่ 2.8%

ขณะเดียวกันตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวก  โดยที่ประเมินว่าดัชนี SET จะเข้าใกล้ระดับ 1,750 จุด ในช่วงสิ้นปี 2567 และกองทุนต่างประเทศบางส่วนจะกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยจากภาพรวมของการบริโภคดีขึ้น

อย่างไรก็ตามโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเป็นความเสี่ยงทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปที่ระดับ 2.5%  ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับระดับเพดานเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท.มากเกินไป ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงที่ส่งผลให้ธปท.อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ

สำหรับการประชุมของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ในวันนี้ (7 ก.ย.) ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด คาดปีนี้เติบโตได้ที่ 2.5-3.0% ต่ำกว่าประมาณการเดิม โดยเฉพาะในไตรมาส 2 เติบโต เพียง 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.1% อย่างมาก  หลังจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวเช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 10 เดือน และติดลบแทบทุกหมวด  ดังนั้นกกร.ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกลงเหลือ -2.0 ถึง -0.5% จากเดิมที่ -2.0 ถึง 0% รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มล่าช้าและรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าปกติอยู่ประมาณ 13% และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเที่ยวของคนไทยในการเที่ยวในประเทศต่ำกว่าปกติประมาณ 33%

“ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในปี 2566 ยังสามารถเติบโตได้ระดับ 3.0% ได้แก่ การลดค่าไฟ และราคาน้ำมัน การผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน  และหามาตรการเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้  รวมถึงความกังวลสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาแข่งขันด้านราคา  ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเบื้องต้นมี 20 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มียอดขายลดลง และหากไม่มีมาตรการกำกับดูแลสินค้านำเข้าดังกล่าว ผลกระทบอาจจะขยายวงกว้างไปมากกว่านี้”

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ย ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25% ซึ่งเป็นระดับสมดุลแล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง   และสถาบันการเงินได้ชะลอการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ อีกทั้งกลไกตลาดเงินได้ปรับตัวแล้ว สะท้อนจากการแข่งขันในการระดมสภาพคล่องที่เข้มข้น ส่งผลให้อัตรา
ดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งจากเงินถูกไหลไปสู่การลงทุนทางเลือก

บล.ธนชาตคาดการณ์หุ้น 20 ตัวได้ประโยชน์จาก 6 นโยบายของรัฐบาลใหม่ อาทิ  นโยบายเติมเงิน Digital Wallet 10,000 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ เป็นบวกต่อ CPALL,CRC, CPN, CBG, CPAXT, HMPRO  ส่วนการลดค่าไฟ-น้ำมัน-ก๊าซ เป็นบวกต่อกลุ่มที่มีสัดส่วนรายจ่ายค่าไฟฟ้ามาก คือ CRC,CPALLและ CPAXT แต่เป็นลบต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า และสถานีบริการน้ำมัน