MCA นับ 1 ไฟลิ่ง จ่อขายไอพีโอ 60 ล้านหุ้น

HoonSmart.com >> ก.ล.ต.ไฟเขียว นับหนึ่งไฟลิ่ง “มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย” ( MCA) ผู้นำวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดครบวงจร จ่อเสนอขาย IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น เข้าตลาด mai ปลายปีนี้  ระดมทุนปูทางธุรกิจใหม่ “Distributor” รองรับลูกค้าได้ครบวงจร ครึ่งปี 2566 รายได้ 210 ล้านบาท โต 16.72% กำไร 12.26 ล้านบาท พุ่ง 69.57% 

นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย  (MCA) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัตินับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ Filing) ของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

สำหรับ MCA เป็นหนึ่งในผู้นำ วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และผู้ให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดครบวงจร ผ่านรูปแบบของกิจกรรมการตลาดภาคสนาม (Field Marketing) มีแผนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตรา  0.50 บาท คิดเป็น 26.09% ของหุ้นทั้งหมดหลัง IPO เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาด mai หมวดธุรกิจให้บริการ (SERVICE) ภายในปี 2566

ธุรกิจหลัก MCA ประกอบด้วย  1.บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล (Marketing activities and Digital) มุ่งเน้นให้ผู้บริโภครับรู้ถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดตั้งบูธสินค้า และการจัดโรดโชว์สินค้า (Booth and Roadshow) และการจัดงานอิเว้นต์ (Event) เพื่อสนับสนุนการนำเสนอและสร้างการรับรู้ในสินค้า (Brand Awareness)

2.บริการบรรจุและจัดส่งสินค้า (Packing and Logistic) ให้บริการนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการขาย เช่น สินค้าตัวอย่าง สินค้าทดลอง และสื่อประชาสัมพันธ์ มาบรรจุลงบรรจุภัณฑ์และขนส่งสินค้าพร้อมขาย ไปยังจุดจำหน่ายต่าง ๆ พร้อมทั้งบริการติดตั้งและการรื้อถอนบูธแสดงสินค้า

3.บริการพนักงานแนะนำสินค้า (Product Consultant)  รวมถึงส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจซื้อ และผลักดันยอดขายสินค้าให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยตั้งแต่ปี 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ ได้ให้บริการพนักงานแนะนำสินค้าแก่ลูกค้าไปแล้วกว่า 109 บริษัท รวมเป็นแบรนด์สินค้ากว่า 133 เครื่องหมาย

4. บริการจัดเรียงสินค้า (Merchandiser) ให้บริการพนักงานจัดเรียงสินค้า มีหน้าที่รับผิด ควบคุมดูแลสินค้าหน้าร้านให้เพียงพอต่อการขาย การตรวจสอบอายุของสินค้าหน้าร้าน การจัดเรียงสินค้าให้เป็นไป ตามมาตรฐาน โดยตั้งแต่ปี 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ ได้ให้บริการจัดเรียงสินค้าแก่ลูกค้าไปแล้วกว่า 49 บริษัท รวมเป็นแบรนด์สินค้ากว่า 53 เครื่องหมาย

นอกจากนี้ MCA ยังมีฐานข้อมูลพนักงานผู้ให้บริการภายนอก (Outsource) มากกว่า 9,100 คน สำหรับการรองรับการให้บริการของธุรกิจ  ปฏิบัติงานได้ครอบคลุมทั่วประเทศ  มีประสบการณ์ให้บริการลูกค้าชั้นนำจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งแบรนด์สินค้าในประเทศและต่างประเทศ มาเกือบ 20 ปี  จากศักยภาพดังกล่าว ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ MCA  ก้าวสู่การเป็นหนึ่งบริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดครบวงจรชั้นนำของประเทศไทย

นายภักดี เหล่างาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  MCA กล่าวว่า  เปิดเผยว่า บริษัท ฯ มุ่งมั่นเป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริการกิจกรรมทางการตลาดและการสร้างสรรค์ ครบวงจร โดยใช้นวัตกรรมดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สู่ผลสำเร็จและการเติบโตอย่างยั่งยืน

“หัวใจหลักสำคัญของ MCA คือ“ความเชื่อใจ วัดผลได้ อย่างมืออาชีพ เพราะบริษัทฯ เชื่อว่า ระบบที่ดีจะสร้างผลงานที่มีคุณภาพ และทีมงานที่ดี จะสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กรสู่การเข้าตลาดหุ้นเอ็ม เอ ไอ ครั้งนี้ เพื่อยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”

วัตถุประสงค์ระดมทุน  เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ  ขยายธุรกิจใหม่ เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) และลงทุนในสินทรัพย์ รวมทั้งชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพความมั่นคงทางการเงินให้กับบริษัทฯ ในอนาคต

ซีอีโอ กล่าวถึง ธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) ว่า เนื่องจาก ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจจำนวนน้อยราย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้ โดยบริษัทฯ เป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าของสินค้าและผู้อุปโภคบริโภค โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเจ้าของสินค้า วางกลยุทธ์ทางการตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ (Product Introduction) จนถึงสินค้าอยู่ในมือผู้บริโภค  วางแผนสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) การใช้ความเชี่ยวชาญทางการตลาด (Marketing Activation) ผ่านช่องทางขายต่าง ๆ ทำให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคในช่องทางที่มากขึ้น

ตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้น  ธุรกิจ Distributor  ที่ 5 – 15% จากแผนการให้บริการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. รูปแบบ Agent มุ่งเน้นกลยุทธ์และกระบวนการขายเป็นหลัก ในนามตัวแทนของลูกค้า ภายใต้การบริหารจัดการเพื่อให้สินค้าจัดจำหน่ายในช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ เช่น ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) และร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) รายได้ที่บริษัทฯ ได้รับจะอยู่ในรูปแบบ Distribution Fee หรือ Distribution Commission

2. รูปแบบ Principal ให้บริการแบบ Full Service โดยบริษัทฯ สั่งซื้อจากร้านค้า เช่น ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม  และร้านสะดวกซื้อ  เข้ามาบริหารภายในคลังสินค้าของบริษัทฯ พร้อมทั้งรับผิดชอบการกระจายสินค้า หรือส่งมอบสินค้าให้แก่ร้านค้าในแต่ละช่องทางการจัดจำหน่าย และรับชำระเงินจากการขายสินค้าในนามของบริษัทฯ

ทั้งนี้ รูปแบบบริการ Principal  สร้างอัตราผลกำไรได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องการเงินลงทุนสูงกว่าเมื่อเทียบกับ Agent เนื่องจากบริษัทฯ ต้องซื้อสินค้าจากลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์สินค้า บริหารจัดการคลังสินค้า ส่งมอบสินค้า และรับชำระเงินจากการขายสินค้า ด้วยตนเอง เสมือนเป็นเจ้าของสินค้า  รับรู้รายได้ในการขายสินค้า และต้นทุนสินค้า ควบคู่กัน

ปัจจุบันบริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า  รูปแบบ Principal  โครงการนำร่อง (Pilot Project) จำนวน 1 โครงการ สำหรับสินค้า 7 แบรนด์ จัดจำหน่ายผ่านร้านค้าประเภทร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) 13 จังหวัดที่กระจายทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ผลดำเนินงาน งวด 6 แรกปี 2566 มีรายได้จากการบริการรวม 210.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.91 ล้านบาท หรือ 16.72% (YoY) จากการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่มบริการ และกำไรสุทธิ 12.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.57% (YoY) เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล  จัดกิจกรรมทางการตลาดช่วงเทศกาลสำคัญช่วงต้นปีซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับปี 2562-2565 มีรายได้จากการบริการรวม 331.67 ล้านบาท , 235.62 ล้านบาท , 224.07 ล้านบาท และ 372.65 ล้านบาท ตามลำดับ กำไรสุทธิ  53.56 ล้านบาท , 0.73 ล้านบาท , 2.74 ล้านบาท และ 16.51 ล้านบาท ตามลำดับ

สาเหตุปี 2563-2564 ปรับตัวลดลง ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 แต่ในปี 2565 รายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทฯ จากการขยายธุรกิจบริการจัดเรียงสินค้า รูปแบบบริการแบบใช้ร่วมกัน และการฟื้นตัวของธุรกิจบริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล  ไม่มีผลขาดทุนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไรสะสม ที่ยังไม่ได้จัดสรรของบริษัทฯให้ผู้ถือหุ้นเดิม ก่อนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นเงิน 15.05 ล้านบาท กำหนดจ่ายเงินปันผล  24 กันยายน 2566