“ชัชชญา” บิ๊ก OCEAN คิดการใหญ่ เร่งทำแผนธุรกิจ-เป้ากำไรย้ายขึ้น SET

“ชัชชญา” ผู้ถือหุ้นใหม่ OCEAN คิดการใหญ่ ขอเวลาปีนี้ เร่งเคลียร์งานหลังบ้าน เร่งทำแผนธุรกิจ ใส่ธุรกิจเทรดดิ้ง CPOA เต็มตัว เป้าหมายสร้างกำไรให้เร็วที่สุด ดันหุ้นเข้าตลาด SET

นางชัชชญา ไตรตระกูลชัย รองประธานกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเชี่ยนคอมเมิรช ( OCEAN ) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ www. Hoonsmart.com ว่า หลังจากที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง ( PP ) สัดส่วน 40 % มูลค่าเงินลงทุน 386 ล้านบาท และนางชัชชญา เริ่มเข้าบริหารงานแล้ว ได้เร่งเคลียร์ธุรกิจเดิมซึ่งผลิตและจำหน่ายก๊อกน้ำ ที่ไม่สร้างกำไร เช่นโรงงานผลิตก๊อกน้ำ ทำสู้การผลิตของประเทศไม่ได้ และถูกสินค้าจีนดั๊มราคา จนทำให้งบการเงินขาดทุน ขณะที่การเทรดดิ้ง ซื้อมา-ขายไปผลิตภัณฑ์ก๊อกน้ำ ยังมีกำไร

ขณะเดียวกันบริษัท ฯ ได้เร่งจัดทำแผนธุรกิจใหม่ เป็นธุรกิจเทรดดิ้งน้ำมันปาล์มดิบ ชนิด A หรือ CPOA ( Crude Palm Oil Type A ) ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของนางชัชชญา โดยโอนลูกค้าเก่าของบริษัท ลาแมน้ำมันปาล์ม ทั้งหมดให้กับโอเชียน ขณะเดียวกัน บริษัท พารากอน อกรีเทค และบริษัท ลาแม น้ำมันปาล์ม ซึ่งค้าน้ำมัน CPOA ได้หยุดทำธุรกิจนี้แล้ว เพื่อขจัดความขัดแย้งทางธุรกิจเดิมของนางชัชชญา กับ OCEAN

“ธุรกิจก๊อกน้ำยังทำไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าไม่กำไร ก็ไม่ทำ เดิม OCEAN ขาดทุนจากสินค้าที่ไม่ใช้งาน ระยะยาวต้องลด ละ เลิก ที่ไม่จำเป็น เช่น การตัดค่าเช่าโกดัง ลดดอดเบี้ย ลดต้นทุน และใส่ธุรกิจเทรดดิ้งน้ำมันเข้าไป ทำแผนการตลาดใหม่ เพื่อให้บริษัทกลับมากำไร เป้าหมายต่อไปคือ หลังจากธุรกิจกำไรแล้ว เตรียมนำหุ้นบริษัทเลื่อนชั้นไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ต่อไป”

กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ลูกค้าเทรดดิ้งน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่โอนให้ OCEAN ขณะน้ำมีคำสั่งซื้อแล้ว 100 ล้านบาท ลูกค้ารายใหญ่ เช่น บริษัทน้ำมันพืชปทุม บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ( EA ) บริษัท บางจาก ขณะนี้อยู่ระหว่างหาลูกค้าใหม่ในกลุ่มปตท.

“การเข้าสู่ธุรกิจเทรดดิ้งน้ำมันของ OCEAN ตั้งแต่ตุลาคมปีนี้ จะกลบงบขาดทุนของโอเชียน ฯ ได้ทั้งหมดในปี 2562 ซึ่งปีนี้เราขอเคลียร์บ้าน ทำงบการเงินให้ถูกต้อง ทำเร่งแผนธุรกิจใหม่ และแผนเทรดดิ้งกับต่างประเทศ โดยแผนใหม่มาร์เก็ตติ้ง ไม่ใช่เส้นเลือกใหญ่ของธุรกิจ แต่เส้นเลือดใหญ่ คือ ไฟแนนซ์นำ ที่ผ่านมาธุรกิจส่วนตัวทั้ง 2 บริษัท คือ ลาแม ฯ และ พารากอน ฯ ใช้มาร์เก็ตติ้งนำ ซึ่งพบว่ามาร์เก็ตติ้ง ไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจ แต่อยู่ที่ไฟแนนเชียล หรือเงินทุน” นางชัชชญา กล่าว

สำหรับนางชัชชญา อายุน้อยพันล้าน เป็นคนจังหวัดตรัง ศึกษาจบปริญญาตรีอินเตอร์มหิดล สาขาไอซีที ธุรกิจเดิมของครอบครัวเป็นร้านโชวห่วย เธอจึงมีหัวการค้าและเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ยังเรียน ขณะที่มีอายุ 25 ปี สามารถขอสินเชื่อธนาคารพานิชย์ได้ 1 พันล้านบาท โดยเธอและสามี ได้เริ่มธุรกิจเล็ก ๆ ร่วมกับกรมอู่ทหารเรือ ผลิตไบโอดีเซล ได้ปีเศษ จากนั้นมาทำโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โดยใช้การตลาดนำ ขณะที่สามีจบวิศวะเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ช่วยเสริมธุรกิจได้อย่างดี โดยนางชัชชญา จะอยู่เบื้องหน้าเจรจาลูกค้า โดยมีสามีเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง