HoonSmart.com>>สมาคมตราสารหนี้เผยไตรมาส 4 มีหุ้นกู้ระยะยาวจะครบกำหนด 212,194 ล้านบาท ปีหน้าครบ 889,962 ล้านบาท เผย 9 เดือนปีนี้ขอเลื่อนชำระ 26,890 ล้านบาท ผิดนัด 1,876 ล้านบาท บางบริษัทขายไม่ได้ต้องออกจากตลาด หันพึ่งพาเพิ่มทุน คาดสถานการณ์ดีขึ้น จากดอกเบี้ยลดลง เศรษฐกิจดี รัฐเบิกจ่ายคล่องขึ้น ตลาดตราสารหนี้โต 3.9% หุ้นกู้เอกชน 704,153 ล้านบาท ยืนเป้าปีนี้ 9 แสนถึง 1 ล้านบาท เผย 19 บริษัทยื่นไฟลิ่ง ต่างชาติถือครอง 9.2 แสนล้านบาท
น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4/ 2567 มีหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนด รวม 212,194 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมหุ้นกู้ของบริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการรวม 1,430 ล้านบาท ส่วนปี 2568 จะครบกำหนด 889,962 ล้านบาท ไม่รวมหุ้นกู้ของบริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการรวม 6,300 ล้านบาท แต่สถานการณ์ไม่น่ากังวล เนื่องจาก ประมาณ 85% เป็น Investment grade นอกจากนี้ปัญหาการเลื่อนหรือผิดนัดชำระ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเบิกเงินจากหน่วยงานรัฐไม่ได้ คาดว่าปีหน้าทุกอย่างจะดีขึ้น รวมถึงดอกเบี้ยลดลง เศรษฐกิจขยายตัว ทำให้มีกระแสเงินสดและผลประกอบการดีขึ้น ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ต้องระวัง ไม่อยากบอกว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นกลุ่มที่ระดมทุนด้วยหุ้นกู้จำนวนมากที่สุด
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% เทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ส่วนภาคเอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาว 704,153 ล้านบาท ลดลงประมาณ 14% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการออกลดลงจากกลุ่ม Investment grade (-8%) ส่วนหนึ่งรอดูดอกเบี้ย หันไปใช้สินเชื่อจากธนาคาร และ High yield (-59%) อย่างไรก็ตามกลุ่ม Investment Grade เช่น เรทติ้ง A มีหุ้นกู้ครบอายุ 353,379 ล้านบาท แต่ออกเสนอขายมากกว่ารวม 369,509 ล้านบาท เรทติ้ง BBB ครบกำหนด 68,844 ล้านบาท ขายจำนวน 97,242 ล้านบาท ส่วนเรทติ้ง BB กลับขายได้เพียง 12,084 ล้านบาทไม่ถึง 50%ของจำนวนครบกำหนด 27,617 ล้านบาท เรทติ้ง B ออกได้เพียง 1,055 ล้านบาท จากที่ครบอายุ 6,568 ล้านบาท และ Non-rated ออกจำนวน 26,559 ล้านบาท น้อยกว่าจำนวนที่ครบกำหนด 37,330 ล้านบาท
ขณะเดียวกันมีหุ้นกู้เลื่อนชำระจำนวน 26,890 ล้านบาท และผิดนัดชำระไปแล้ว 1,876 ล้านบาท ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่เลื่อนชำระของ 12 บริษัท รวม 24 รุ่น กระจุกตัวอยู่กับหุ้นกู้บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) จำนวน 5 รุ่น มูลค่า 14,455 ล้านบาท และบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) รวมสัดส่วนกว่า 70% ถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลายลง เพราะ EA ยังมีกำไร และมีการเจรจาประชุมผู้ถือหุ้นกู้ไปครบทุกรุ่นแล้ว เชื่อว่าถ้าความเชื่อมั่นกลับคืนมา ในปี 2568 น่าจะมีการเสนอขายหุ้นกู้รุ่นใหม่
” เรายังคงเป้าหมายในปีนี้ มูลค่า 9 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท ชะลอลงจากปีก่อน โดยมีบริษัท 19 บริษัทยื่นไฟลิ่งกับก.ล.ต. มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็ก รอดูดอกเบี้ยที่กำลังจะลดลง ขณะที่นักลงทุนไตร่ตรองการลงทุนมากขึ้น หากบริษัทใดเสนอขายหุ้นกู้ไม่ได้ ก็ต้องออกไปจากตลาดก่อน แต่บริษัทต่างๆ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่รอจนครบอายุ หาทางออก เช่น ขายทรัพย์สิน เชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้นก็คงกลับมา ส่วนรายใหม่ที่เข้ามา ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทขนาดใหญ่” น.ส.อริยากล่าว
ด้านดร.สมจินต์ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 ปรับตัวลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว 20-22 bps. ในรุ่นอายุ 2 ปี ถึง 10 ปีตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 Bond yield ไทย รุ่นอายุ2 ปี 5 ปีและ 10 ปี ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 2.14% 2.23% และ 2.48% ตามลำดับ
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yieldcurve) ของหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA และAA รุ่นอายุ 5 ปีปรับตัวลดลง 14-25 bps. ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ใกล้เคียงกับการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ในขณะที่อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้กลุ่มอันดับเครดิต A BBB+ และ BBB ปรับตัวลงน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งสะท้อนถึงส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ที่สูงขึ้นจากการระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้กลุ่มดังกล่าวของผู้ลงทุน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 หุ้นกู้กลุ่ม AAA AA A BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ 2.97% 3.06% 3.44% 4.53% และ 5.49% ตามลำดับ
ด้านกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 6,902 ล้านบาท เป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยในช่วง 2 ไตรมาสแรกที่ 65,463 ล้านบาท และการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยในไตรมาส 3 ที่ 58,561 ล้านบาท ภายหลังการประกาศตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่แสดงถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จนมีการคาดการณ์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยของเฟด และเมื่อการประชุมรอบเดือนก.ย.ก็ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ตามคาด ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.4% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุคงเหลือที่ถือครองเฉลี่ย 8.8 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปีเมื่อสิ้นปี 2566
ดร.สมจินต์กล่าวถึงผลสำรวจผู้ร่วมตลาดเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี 2567 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง 0.25% ในรอบการประชุมในไตรมาสสุดท้ายของปี2567 นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบ ถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปีและ 10 ปีจะขยับตัวลงในไตรมาส 4 โดยเฉลี่ยราว 5-10 bps. นับจากวันที่ทำการสำรวจ1 มาอยู่ที่ 2.16% และ 2.45% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่เชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อ Bond yield ในอนาคตคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ