HoonSmart.com>>สลดน้ำท่วมภาคเหนือ-อีสานมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูญ 6 หมื่นล้านบาท เคลมประกันภัยแค่พันล้านบาท คปภ.-ภาคเอกชน แนะทำประกันเต็มทุน คลอบคลุมความเสี่ยงชีวิต-ทรัพย์สิน
น.ส.วสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จากการที่น้ำท่วมภาคเหนือและพื้นที่อื่นๆ ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าร่วม 60,000 ล้านบาท มีการเคลมประกันภัยไม่ถึง 1,000 ล้านบาทต้นๆ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงด้วยการประกันภัย ซึ่งที่ผ่านมาทาง คปภ.พยายามให้ความรู้แต่ไม่เป็นผลเท่าไหร่นัก โดยปี 2568 จะมีการปูพรมในการให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ
“ประกันภัยไม่ได้ทำให้ใครรวย แต่เป็นเครื่องมือในการดูแลยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ทำให้ไม่ส่งต่อความยากจนไปให้คนรุ่นต่อไป”น.ส.วสุมดี
นายจำนง สวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากข้อมูล ระหว่างวันที่ 16 ส.ค.2567-3 ต.ค.2567 เกิดเหตุน้ำท่วมดินถล่ม 37 จังหวัด 226 อำเภอ 948 ตำบล 5,318 หมู่บ้าน มีครัวเรือน 193,000 ครัวเรือน โดยน้ำท่วมเชียงรายมีดินมาด้วยยิ่งหนักกว่าเดิม แม้จะมีการเตือนล่วงหน้าให้ย้ายออกจากพื้นที่แต่ด้วยจากไม่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในลักษณะนี้จึงไม่ค่อยมีใครเชื่อคำเตือน เมื่อเกิดเหตุการเข้าไปให้ความช่วยเหลือลำบากต้องใช้เวลา
ฉะนั้น หากพื้นที่ใดที่คิดว่าจะเกิดน้ำท่วม ถ้าสามารถย้ายออกได้ให้รีบย้าย เพราะชีวิตหาซื้อใหม่ไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่าไม่หนัก ย้ายไม่ได้ให้เตรียมอาหารไว้อย่างน้อย 7 วัน และยกของขึ้นพื้นที่สูง ในท้องถิ่นควรจะมีการเก็บกวาดขยะตามท่อต่างๆ ออกด้วย
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าปี 2567 ไทยจะมีพายุ 24 ลูก เกิดไปแล้ว ซึ่งเกิดแล้ว 17 ลูก เป็นไต้ฝุ่น 17 ลูก เหลืออีก 7 ลูก และคาดการณ์กันว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่นทั้งหมด หากภาครัฐมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ความเสียหายจะลดลง 30% และถ้ามีการเตรียมแผนรับมือล่วงหน้าไว้ด้วย จะช่วยลดความเสียหายลงได้ 50%
ปีนี้มีความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง จะเกิดน้ำท่วมทุ่ง ทางที่ดีประชาชนควรจะสร้างบ้าน 2 ชั้น เพื่อเมื่อเกิดน้ำท่วมจะได้อยู่ชั้น 2 และท้องถิ่นต้องเข้มแข็งในการร่วมกันป้องกันน้ำท่วม เพราะมาตรการป้องกันน้ำท่วมของภาครัฐน่าจะเสร็จไม่ทัน ซึ่งเป็นผลมาจากโลกร้อนขึ้น ฝนจะตกหนัก
ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนที่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อวันในบางพื้นที่เริ่มมีปัญหา โดยคาดว่าปี 2573 จะเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในภาคกลาง จากน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำเหนือ น้ำฝน และปี 2593 จะปริมาณฝนในกรุงเทพวันละ 250 มิลลิเมตรต่อวัน ต้องใช้เรือในการเดินทาง
ดร.พงษ์ภาณุ ดำรศิริ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากการที่ประชาชนเคลมประกันภัยน้อย สะท้อนให้เห็นว่ามีการโอนความเสี่ยงมาให้ประกันภัยค่อนข้างน้อยโดยพื้นที่เกษตรหรือประกันภัยนาข้าวในภาคเหนือทั้งหมดมีเพียง 2% ของเบี้ยประกันภัยทั่วประเทศ แม้จะยังไม่ทราบความเสียหายที่ชัดเจนแต่คิดว่าไม่มาก และการที่ทรัพย์สินเสียหายสูงแต่การเคลมประกันภัยต่ำ
ทางสมาคมฯจะมีการเข้าไปให้ความรู้เรื่องการประภัยให้เต็มมูลค่าของทรัพย์สิน ให้ครอบคลุมทรัพย์สินที่มีอยู่ และเลือกความคุ้มครองได้ครอบคลุม คือ ซื้อให้เต็มทุน เต็มทรัพย์สิน เต็มภัย เมื่อเกิดเหตุจะได้รับความคุ้มครองที่เพียงพอ
“หนึ่งในเหตุผลที่มีประกันน้อย ส่วนหนึ่งจากไม่มีเงินพอซื้อ ก็จะร่วมกับทางคปภ.ในการร่วมกันออกแบบประกันภัยที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ และต้องทบทวนการจัดโซนน้ำท่วมใหม่ ซึ่งปีนี้มีภัยพิบัติใหญ่ๆ ทั่วโลกทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ทำให้เบี้ยประกันภัยทรัพย์สินยังคงสูง”ดร.พงษ์ภาณุ กล่าว
นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ภาคธุรกิจประกันภัย สามารถเข้าไปให้ความช่วยหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว เช่น ที่ภาคเหนือกำลังของตัวแทนภาคธุรกิจประกันภัยได้ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในส่วนของประกันชีวิต ตัวแทนได้เข้าไปช่วยเหลือโดยที่ไม่ได้รอคำสั่งจากบริษัทต้นสังกัด ต่อมาทางคปภ.ได้ให้บริษัทประกันชีวิตทำการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย เลื่อนเวลาจ่ายเบี้ยออกไป 30-60 วัน
ด้าน ศูนย์วิจัยกรุงศรี คาดปี 2567 มูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมกรณีหนักสุดจะประมาณ 59,500 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อจีดีพี 0.34% แยกเป็นความเสียหายจากทรัพย์สิน 4,000 ล้านบาท และผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 55,500 ล้านบาท ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ. ท.) ประเมินความเสียหายน้ำท่วมภาคเหนือตอนบนไว้ประมาณ 27,000 ล้านบาท และ หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประมาณการณ์ความเสียหายน้ำท่วมภาคเหนือและอีสาน ถึง 28 ก.ย.2567 ประมาณ 29,845 ล้านบาท