ตลาดรับ PSP เข้าเทรด 30 ส.ค.นี้ ราคา IPO ุ6.20 บาท

HoonSmart.com>> ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับหุ้น PSP (พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์) ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นแบบครบวงจร เริ่มซื้อขาย 30 ส.ค.นี้ IPO หุ้นละ 6.20 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ 8,680 ล้านบาท

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “PSP” ในวันที่ 30 สิงหาคม 2566

PSP ประกอบธุรกิจรับผลิตและกระจายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ให้แก่กลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยบริษัทให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดหาวัตถุดิบ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ผลิตผลิตภัณฑ์ บรรจุผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บและกระจายสินค้า ให้บริการด้านโลจิสติกส์และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ บริษัทยังประกอบธุรกิจพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์พิเศษ (Specialty products) เช่น น้ำมันผสมยาง (Rubber Process Oil) น้ำมันหม้อแปลง (Transformer Oil) ให้บริการศูนย์กระจายน้ำมันเชื้อเพลิง (Terminalling) เป็นตัวแทนจำหน่าย สารเติมแต่งแบรนด์ Chevron Oronite ในประเทศไทย กัมพูชา และลาว และเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในสินค้าของ Authentix ในประเทศไทย

PSP มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลัง IPO 1,400 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมจำนวน 1,050 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 350 ล้านหุ้น โดยการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรกนี้เป็นการเสนอขายจำนวนรวมไม่เกิน 350 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้มีอุปการคุณของบริษัท และ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และบริษัทย่อย ในระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม ในราคาหุ้นละ 6.2 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 2,170 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 8,680 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) แลบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วม

นายสินธุ์ ครองพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ เปิดเผยว่า นอกจากการเป็นผู้นำในการเป็นผู้ผลิตอิสระ (Independent Manufacturer) ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและผลิตภัณฑ์พิเศษ (Specialty Products) แบบครบวงจรที่ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศแล้ว PSP ยังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการศึกษาและทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า การพัฒนาสูตรการผลิต การทดสอบคุณสมบัติ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน สามารถตอบสนองความต้องการใน Application ที่หลากหลายของลูกค้า เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัท ได้แก่

1) การตอกย้ำความเป็นผู้นำ โดยมุ่งเน้นและเพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรและมีการเติบโตสูง เพิ่มสัดส่วนรายได้จากการขายในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุง Facilities ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและรองรับการเติบโตในอนาคต

2) การเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร (Food Grade Lubricant) น้ำมันเอนกประสงค์ (Multipurpose Oil) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงชีวภาพ (Bio Transformer Oil)

3) การขยายธุรกิจผ่านการลงทุน ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมให้ครอบคลุมธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Sustainable Solution รวมถึงธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคตที่เน้นการใช้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-Curve)

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการผลิตเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท

PSP มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ กลุ่มครอบครัวครองพาณิชย์ ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม ร้อยละ 41.7% กลุ่มครอบครัวติงธนาธิกุล ถือหุ้น 9.9% และนายเพิ่มศักดิ์ โกศลพันธุ์ ถือหุ้น 7%

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ อาจพิจารณาจ่ายเงินปันผลแตกต่างไปจากนโยบายที่กำหนดไว้ได้ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ สภาพคล่องทางการเงิน และความจำเป็นในการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อบริหารกิจการ และแผนการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ

ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 143.08 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.14 บาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 202.98 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.89 บาท ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2566 กำไรสุทธิ 185.22 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.19 บาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 362.18 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.59 บาท

บริษัทมีรายได้รวมในงวด 6 เดือนแรกปี 2566 จำนวน 6,046 ล้านบาท ลดลง 11.1% ขากงวดปีก่อน โดยรายได้รวมเกือบทั้งหมดมาจากรายได้จากการขายสัดส่วน 95-96% ส่วนที่เหลือมาจากการให้บริการ