ทริสฯ คงอันดับเครดิต กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส ที่ A-

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส สะท้อนถึงผลการดำเนินงานแข็งแกร่งยั่งยืน ได้เปรียบในการแข่งขันจากความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง รักษาสถานะทางการตลาด ภาระหนี้ที่ต่ำ และสภาพคล่องที่เพียงพอ อันดับเครดิตถูกจำกัดด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมรถเช่า

ทริสเรทติ้ง รายงานการจัดคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR ที่ระดับ “A-” อัสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ความได้เปรียบในการแข่งขันจากความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง ความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาด ภาระหนี้ที่ต่ำ และสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกจำกัดด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมรถเช่าซึ่งยังคงสร้างแรงกดดันต่อผลประกอบการและแผนการขยายธุรกิจของบริษัท

ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งไว้ได้ เนื่องจากบริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง ผลประกอบการของบริษัทสามารถพิสูจน์ได้จากกำไรสุทธิซึ่งอยู่ในระดับ 200-400 ล้านบาทตลอด 10 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าราคารถยนต์มือสองจะลดลงอย่างมากในช่วงปี 2557-2558

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลประโยชน์ทางภาษีซึ่งมีส่วนช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถัวเฉลี่ยของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.1% ในปี 2560 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 1.1% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถัวเฉลี่ยแบบปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีของบริษัทลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 จาก 7.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จากการลดลงของจำนวนรถหมดสัญญาที่ขายออกไป อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถัวเฉลี่ยของบริษัทในปี 2559-2560 อยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีการขายรถหมดสัญญาในจำนวนที่มากกว่าปกติ ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถัวเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 5.5%-6.0% ในปี 2561-2564 จากสมมติฐานที่ว่าจำนวนรถหมดสัญญาขายจะกลับสู่ระดับปกติ

ความได้เปรียบในการแข่งขันจากความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงความได้เปรียบในการแข่งขันจากความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง บริษัทมีต้นทุนในการซื้อรถใหม่ที่ต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเนื่องจากบริษัทจัดซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ให้เช่าในจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของรถทั้งหมดจากตัวแทนจำหน่ายซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท (ตระกูลจันทรเสรีกุล) เป็นเจ้าของ อีกทั้งบริษัทยังเป็นเจ้าของศูนย์ซ่อมบำรุงรถยนต์หลายแห่งซึ่งช่วยลดรายจ่ายค่าซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังมีแนวโน้มที่จะยังคงรับรู้กำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาเนื่องจากบริษัทขายสินทรัพย์ดังกล่าวกว่า 90% โดยเฉลี่ยให้กับลูกค้ารายย่อยผ่านทางบริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายรถมือสองที่เป็นบริษัทลูก ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถขายรถหมดสัญญาเช่าได้ในราคาที่สูงและได้กำไรที่มากกว่าเมื่อเทียบกับการขายผ่านช่องทางอื่น เช่น การประมูล

การรักษาสถานะทางการตลาด
บริษัทมีสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 3,843 ล้านบาทในปี 2560 จาก 3,097 ล้านบาทในปี 2558 แม้ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถเช่าจะรุนแรง บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 5.6% ในปี 2560 ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง บริษัทมีนโยบายมุ่งเน้นคุณภาพในการให้บริการเพื่อรักษาฐานลูกค้าและมุ่งเน้นที่ผลประกอบการที่ดีพร้อมทั้งรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตของสินทรัพย์ คุณภาพของสินทรัพย์ และผลการดำเนินธุรกิจที่แข็งแรง

ภาระหนี้ที่ต่ำ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงภาระหนี้ที่ต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับ 1.0-1.5 เท่า ในปี 2561-2564 บริษัทเริ่มออกหุ้นกู้ในปี 2560 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากการพึ่งพาเงินสินเชื่อจากธนาคารและเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ภายใต้สัญญาเช่าซื้อ บริษัทมีเงินกู้ยืมรวมเพิ่มเป็น 2,836 ล้านบาทในปี 2560 จาก 2,523 ล้านบาทในปี 2559 แม้ว่าเงินกู้ยืมจะเพิ่มสูงขึ้นอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ 1.5 เท่า ในปี 2560 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 58.5% ในปี 2560 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 81.3% โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 2,014 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานเงินทุนของบริษัทจะยังเพียงพอต่อการขยายธุรกิจในอนาคต

สภาพคล่องที่เพียงพอ
บริษัทมีโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากบริษัทบริหารระยะเวลาของเงินกู้ยืมโดยเฉพาะระยะเวลาของเงินกู้ยืมภายใต้สัญญาเช่าซื้อและหุ้นกู้ให้สอดคล้องกับระยะเวลาของสัญญาเช่าซึ่งส่วนใหญ่นาน 3-4 ปี โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมรวมอยู่ที่ 19.9% ต่ำกว่าระดับ 49.0% ในปี 2560

บริษัทยังมีความยืดหยุ่นทางการเงินเนื่องจากบริษัทเริ่มพึ่งพาการกู้ยืมแบบมีหลักประกันภายใต้สัญญาเช่าซื้อที่น้อยลง ส่งผลให้บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ไม่มีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นหากเกิดปัญหาสภาพคล่อง สัดส่วนเงินกู้ยืมภายใต้สัญญาเช่าซื้อต่อเงินกู้ยืมรวมของบริษัทปรับตัวลดลงต่อเนื่องและคิดเป็นสัดส่วน 9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 จาก 56% ในปี 2558 นอกจากบริษัทมีรถที่ไม่มีภาระผูกพันเป็นแหล่งสภาพคล่องแล้ว บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่งและยังสามารถระดมทุนได้ทั้งจากตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้อีกด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทสะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจและการเงิน รวมถึงสามารถรักษาฐานลูกค้าหลักกลุ่มเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ รวมถึงมีผลประกอบการที่น่าพอใจด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากสถานะทางธุรกิจของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่สถานะทางการเงินคงตัว ในทางกลับกัน สถานะเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางธุรกิจของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากผลประกอบการหรือภาระ