HoonSmart.com>>ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น (SLM) (เดิมชื่อบริษัท ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) (CHUO)) กับพวกรวม 9 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำทุจริตผ่านธุรกรรมต้องสงสัย 5 รายการ SLM ได้รับความเสียหายมูลค่าประมาณ 110 ล้านบาท ส่งเรื่องต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ตรวจสอบพบพยานหลักฐานว่า ในช่วงปี 2559 – 2560 กรรมการและผู้บริหาร SLM ในขณะนั้นรวม 2 ราย ได้แก่ Mr. Katsuyuki Mizumachi (นายคะซูยูกิ มิซูมาชิ) ประธานกรรมการบริหาร และ Mr. Kiichi Okuyama (นายคิอิชิ โอคุยามา) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กับพวกอีก 7 ราย ที่ได้ร่วมกัน และ/หรือ เข้าไปให้การช่วยเหลือสนับสนุนการทำธุรกรรมของกรรมการทั้งสองรายดังกล่าวแล้วแต่กรณี ได้แก่ Mr. Liam Dwyer Orton, Mr. John Worrall D’Arcy Grove, Mr. Mohammed Salamat Ali, Mr. Haruhiko Shin, นายสมบูรณ์ โป้บุญส่ง, นายเจษฎา ดาวแก้ว, และบริษัท ชูโอ เซ็นโก แอดเวอร์ไทซิ่ง (ประเทศไทย) หรือ CSA (อดีตบริษัทย่อยของ SLM) กระทำการโดยทุจริตผ่านธุรกรรมต้องสงสัยรวม 5 รายการ ได้แก่
(1) กรณีลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท JRA (Fiji) Consultants ซึ่งจดทะเบียนที่สาธารณรัฐฟิจิ พบว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีอยู่จริง มูลค่าความเสียหายประมาณ 21 ล้านบาท
(2) กรณีลงทุนซื้อหุ้นที่จดทะเบียนและหุ้นเพิ่มทุนในอนาคตของบริษัท แซมส์ สปอร์ต รีเทล (SAMS) และกรณีสั่งซื้อรองเท้าจากบริษัท SAMS ที่พบว่าไม่สมเหตุสมผลในการเข้าทำรายการและไม่มีเจตนาทำธุรกรรมจริง รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 42 ล้านบาท
(3) กรณีทำธุรกรรมผ่องถ่ายเงินผ่านการขอเงินเพิ่มทุน การทำ License Agreement (สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ) และการทำ Subcontract Agreement (สัญญาจ้างเหมาช่วง) ของบริษัทย่อยรายบริษัท ดิจิตอล ดรีม ที่พบว่าไม่ได้มีเจตนาทำธุรกรรมจริง แต่เพื่อต้องการผ่องถ่ายผลประโยชน์ไปให้ Mr. John Worrall D’Arcy Grove และบุคคลอื่น รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 33.4 ล้านบาท
(4) กรณีโอนสิทธิการเช่าพื้นที่สำนักงานให้แก่ CSA ซึ่งพบว่าเป็นธุรกรรมที่เป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์ให้แก่ CSA (ในขณะนั้นไม่ได้เป็นบริษัทย่อยของ SLM แล้ว) มูลค่าความเสียหายประมาณ 11.9 ล้านบาท และ
(5) กรณีการทำสัญญาให้บริการเครือข่าย (Network Service) กับ CSA ภายหลังพบว่ามีคำพิพากษาของศาลโดยคดีถึงที่สุดแล้วว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากการแสดงเจตนาลวงของอดีตกรรมการราย Mr. Katsuyuki Mizumachi (นายคะซูยูกิ มิซูมาชิ) จึงเป็นการทุจริตผ่องถ่ายผลประโยชน์ไปให้แก่ CSA (ในขณะนั้นไม่ได้เป็นบริษัทย่อยของ SLM แล้ว) มูลค่าความเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมข้างต้นทั้ง 5 รายการ ทำให้ SLM ได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ารวมประมาณ 110 ล้านบาท
การกระทำของกรรมการและผู้บริหาร SLM รวมถึงบุคคลและนิติบุคคลรวม 9 ราย เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) และมาตรา 83 หรือมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ DSI*
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
ปัจจุบัน บริษัทเอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น (SLM) ถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP,NC,NP โดยอยู่ระหว่างการแก้ไขคุณสมบัติ เพื่อกลับเข้ามาซื้อขายหุ้นอีกครั้ง
________________________
หมายเหตุ : * ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของ ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560