‘ฟันด์นอกหน้าใหม่’ร่วมงานไทยแลนด์โฟกัส ชู trust และ New S-curve ดึงดูด

HoonSmart.com>> ตลาดหลักทรัพย์-พันธมิตรร่วมเปิดงานThailand Focus 2023  มี 118 บจ.ให้ข้อมูล 96 สถาบันทั่วโลก เป็นกองทุนต่างประเทศ 54 แห่ง ปีนี้พิเศษกองทุนฮ่องกงมาและกองทุนสแกนดิเนเวียไม่ได้ลงทุนในไทยก็เข้าร่วมด้วย ชูโรงเรื่อง trust (ความไว้วางใจ) New S-curve ชูไทยเด่น Soft Power ต่อยอดได้ไกล จับมือรัฐบาลใหม่ดึงดูดลงทุน เปิดทาง Growth Engine เข้าตลาดหุ้น “แมนพงศ์”รับคาดการณ์ลำบากถึงฟันด์โฟลด์จะไหลเข้าครึ่งปีหลัง “กอบศักดิ์” แนะฉวยโอกาส 4 ด้านขับเคลื่อนไทย การจัดงานใหญ่วันแรก ดัชนีบวก 3.41 จุด ต่างชาติขายหุ้น  161 ล้านบาท  

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า Thailand Focus 2023 : The New Horizon ระหว่างวันที่ 23-25ส.ค. 2566 ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกกว่า 200 ราย จาก 96 สถาบันทั่วโลก แบ่งเป็นกองทุนในประเทศ 42 แห่ง และกองทุนในต่างประเทศ 54 แห่ง เช่น สิงคโปร์, ฮ่องกง, สหราชอาณาจักร, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา, สวีเดน, ไต้หวัน ซึ่งในปีก่อนกองทุนจากฮ่องกงไม่ได้มา และในปีนี้มีกองทุนจากกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ไม่เคยลงทุนในไทยมาร่วมงานด้วย โดยมีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) มาให้ข้อมูลทั้งหมด 118 บริษัท ทั้ง Group Meeting และ One-on-One กระจายในทุกหมวดอุตสาหกรรม อยู่ในกลุ่ม SET50, SET100, นอก SET 100 และ mai

ตลาดทุนไทยได้นำเสนอเรื่อง trust (ความไว้วางใจ) มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ หลังเกิดความเสี่ยงเกิดขึ้นมากมาย และมีการสร้าง New S-curve ซึ่งประเทศไทยมีมีความโดดเด่นเรื่อง Soft Power อย่างมาก เช่น ภาพยนตร์, ซีรีส์, กีฬามวย, บริการสปา เป็นต้น มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการวางยุทธศาสตร์ จึงมีความสำคัญต่อการแข่งขันในตลาดโลก ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ กลุ่มบริการ  ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เจริญเติบโตสูงในด้านกำไร เช่น กลุ่มพาณิชย์, ท่องเที่ยว, ขนส่ง เป็นต้น ไทยจะต้องจับตลาดและอาศัยความแข็งแกร่งจากการย้ายฐานของซัพพลายเชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ รวมถึงต่อยอดท่องเที่ยว ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) แต่ต้องลงไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน (Soft Infrastructure) ด้วย โดยเฉพาะในธุรกิจเดิมให้สามารถดึงดูดได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์เตรียมร่วมกับรัฐบาลดึงดูดการลงทุน โดยจะมุ่งให้ความสำคัญในอุตสาหกรรม Growth Engine  ปัจจุบันมีการออกเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ แต่อาจจะยังไม่มีกำไร สามารถเข้ามาในเกณฑ์ new economy  รวมถึงสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี โดยพัฒนา Live platform และเปิดตัวตลาดหุ้น LiveX ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากธุรกิจสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี  ถัดมาคือให้ความสำคัญกับการนำดาต้ามาใช้ในการประมวลผลต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือพัฒนาศักยภาพของตลาดทุนรวมกับการกำกับดูแล ซึ่งจะทำให้ดูแลกำกับการซื้อขายได้ดีขึ้น

สำหรับภาพการเมืองชัดเจน มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในระยะสั้นทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นมาก แต่คาดการณ์ลำบากในครึ่งปีหลังจะมีฟันด์โฟล์เข้ามามากแค่ไหน จะต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดทุนอย่างไร โดยมองมีความท้าทายใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. ภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งอัตราเงินเฟ้อ, ดอกเบี้ยนโยบาย, ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ ว่าไทยจะสามารถรับมือได้อย่างไร ซึ่งจะสอดคล้องไปกับนโยบายของรัฐบาลว่าจะเอื้อหนุนปัจจัยเหล่านี้มากแค่ไหน 2.ความเชื่อมั่น หลังจากที่เกิดความเสี่ยงมากมายในตลาดทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกณฑ์กำกับดูแล บจ. ต่าง ๆ มากขึ้น ต้องรอดูต่อว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป และ 3. การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไปจะเป็นอย่างไร

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในระยะสั้นเมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว จะเป็นพัฒนาการที่ดีสำหรับตลาดการเงิน และระบบเศรษฐกิจ แต่ในระยะถัดไป สิ่งที่รัฐบาลควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือการสร้างเสถียรภาพในการทำงานและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเรื่องนิติธรรม การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง การรักษาสัจจะ หรือว่าความตรงไปตรงมา ความโปร่งใส ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในเรื่องการปกครอง การอยู่ร่วมกันของสังคม ซึ่งรัฐบาลต้องหาทางช่วยกันปรับปรุงแก้ไขเพื่อเสถียรภาพอย่างยั่งยืน

ส่วนนโยบายประชานิยมเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะนโยบายที่ดีสำหรับประชาชน แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวด้วย เพราะสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนอยู่และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ยังกล่าวถึงประเด็นข้อกล่าวหา นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บริหาร บริษัทแสนสิริ (SIRI) จากการทำนิติกรรมอำพรางในการซื้อขายที่ดินและการหลบเลี่ยงภาษี ว่าปัญหาธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าในวงการธุรกิจจะมีสิ่งที่เรียกว่า วิธีปฏิบัติซึ่งต่างฝ่ายต่างรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของแนวปฏิบัติที่เหมาะสม  ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยพยายามส่งเสริมเรื่องความโปร่งใส และความตรงไปตรงมา

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)  กล่าวว่า  4 หัวใจสำคัญที่ไทยควรขับเคลื่อนในอีก 4 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1.เทคโนโลยี  จะทำอย่างไรที่จะสามารถก้าวขึ้นไปในเรื่องของการพัฒนาและวิจัย (R&D) เทคโนโลยี เป็นของตัวเอง แนะรัฐบาล หากไทยไม่มีนักวิจัยเป็นของตนเองที่เพียงพอ ก็อยากให้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการทำ R&D เพื่อตอบโจทย์ของเอเชีย ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพของโลกมาใช้ฐานอย่างแท้จริง หรือเปิดโอกาสให้สำนักงานใหญ่มาตั้งในประเทศไทย โดยมองว่าการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการขับเคลี่อนของเอเชียทั้งหมด จะเป็นจุดที่สำคัญ ที่สามารถทำได้ทันที และใช้ต้นทุนน้อยมาก

2. ต่อยอดธุรกิจเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ (New S Curve) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV), ศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical hub), ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) รวมถึงเรื่องของดิจิทัลต่างๆ เช่น Soft Power, Animation ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นผู้เล่นต้นๆ ของโลกและสามารถดำเนินการทันทีเช่นเดียวกัน ทำให้สร้างรายได้ในระหว่างการสร้างฐานใหม่

3. การส่งเสริมบริษัทไทยไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ปัจจุบันอาเซียนถือเป็นเป้าหมายใหม่ของการลงทุนของโลก หากส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนเศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้า

4. สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการ EEC ต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง, โครงการท่าเรือฝั่งตะวันตก และโครงการที่จะเชื่อมกับโครงการ Belt and Road รวมถึงการแก้ไขเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ

สำหรับการสนับสนุนตลาดทุน ทาง FETCO จะเข้าไปหารือกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด จะมีการนำเสนอในเรื่องหลักๆ คือ 1. ส่งเสริมตลาดทุน ให้เป็นกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ 2. การแก้ไขกฎเกณฑ์ และกฎหมาย ให้สอดคล้องกับ Digital Government  เพื่อให้การพัฒนาไปข้างหน้าได้ และปรับปรุงแก้ไขฯหลังเกิดกรณีหุ้นบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK), หุ้นบริษัทมอร์ รีเทิร์น (MORE), การหลอกลวงการลงทุน รวมถึงจะทำอย่างไรที่เอาพลังของตลาดทุนไปช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

ขณะเดียวกัน FETCO และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยังเตรียมเสนอรัฐบาลให้พิจารณาออกกองทุนใหม่ หลังจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) จะหมดอายุลงในปีนี้ และเตรียมปรับปรุงกองทุน SSF ให้มีความน่าสนใจมากกว่านี้

“เรื่องเงินทุนต่างชาติไหลเข้า มองความเสี่ยงหากเศรษฐกิจไทยยังโตน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะทำให้เสียโอกาสในการดึงดูดเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคค่อนข้างมาก”นายกอบศักดิ์กล่าว

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 23 ส.ค. 2566 ตลาดยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้ระหว่างวันจะมีแรงขายทำกำไรให้ตลาดติดลบเล็กน้อยก็ตาม  แต่กลับมาปิดที่  1,549.01 จุด เพิ่มขึ้น 3.41 จุด หรือ +0.22% มูลค่าซื้อขาย 75,837.78 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 161.76 ล้านบาท นักลงทุนไทยขายต่อ  2,408 ล้านบาท สวนทาง นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 2,205 ล้านบาท หลังจากวันก่อนดัชนีปรับตัวขึ้นแรงเกือบ 20 จุด ตอบรับได้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีก และไฟแนนซ์ปรับตัวขึ้นโดดเด่น