HoonSmart.com>>ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้”ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ที่ “A+”หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ที่ “A-” แนวโน้ม “คงที่” ผลงานครึ่งปีนี้ฟื้นตัว ความสามารถทำกำไรดีขึ้น คาดปี 67-69 มีรายได้ 1.4-1.46 แสนล้านบาท EBITDA ประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท/ปี EBITDA Margin จะคงอยู่ที่ประมาณ 9% จากผลิตภัณฑ์หลากหลายที่มีนวัตกรรม หนี้ค่อยๆลดลง สภาพคล่องเพียงพอ กระจายตัวที่หลากหลายในเชิงภูมิศาสตร์ ฐานการผลิต 15 ประเทศ ลดเสี่ยง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่”
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย และตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ทั้งในธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำซึ่งได้แก่ธุรกิจส่วนประกอบอาหาร (Food Ingredient Business) และธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed Business) อีกด้วย ในขณะที่อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกตลอดจนความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราด้วยเช่นกัน
TU เผชิญกับผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในปี 2566 และฟื้นตัวในครึ่งแรกปีนี้ จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปจากการกลับมาสั่งซื้อสินค้าของกลุ่มลูกค้าหลัก ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 6.9 หมื่นล้านบาท
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้น จากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นและต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ตลอดจนการลดลงของต้นทุนวัตถุดิบในธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ อัตรากำไร ก็ดีขึ้นจากอานิสงส์ของการลดสัดส่วนธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งที่มีอัตรากำไรต่ำในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ EBITDA เพิ่มขึ้น 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 6.2 พันล้านบาท โดยอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 18% และ EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 9.1% เพิ่มจากระดับ 8.8% ในปี 2566
ในอนาคตทริสฯคาดว่าบริษัทจะรักษาการเติบโตของรายได้และกำไรที่ดีเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตจะมาจากการเพิ่มกำลังการผลิต การขยายตลาด และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ระดับ 1.4-1.46 แสนล้านบาทในช่วงปี 2567-2569 โดย EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ EBITDA Margin น่าจะคงอยู่ที่ประมาณ 9% ขณะที่มีค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 4-5 พันล้านบาทต่อปี
ส่วนธุรกิจของ Red Lobster ซึ่งเป็นธุรกิจร้านอาหารทะเล (Restaurant Chain) ในประเทศสหรัฐอเมริกาของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และเผชิญสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้ Red Lobster ประสบผลขาดทุนสะสมจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจึงตัดสินใจบันทึกการด้อยค่าเงินลงทุนเต็มจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.84 หมื่นล้านบาท (530 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และปรับรายการเงินลงทุนนี้รวมทั้งผลขาดทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ Red Lobster ไปเป็นส่วนของการดำเนินงานที่ถูกยกเลิกในงบการเงินในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566
ทริสฯมองว่าการบันทึกการด้อยค่าเงินลงทุนนี้เป็นรายการตัดจำหน่ายเพียงครั้งเดียวและคาดว่ากำไรสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากจะไม่มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานของ Red Lobster อีกต่อไป การตัดสินใจในครั้งนี้ยังช่วงลดความกังวลของทริสเกี่ยวกับภาระในการสนับสนุนทางการเงินแก่ Red Lobster เพิ่มเติมในอนาคตด้วย
จากผลการดำเนินงานที่น่าพอใจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินลดลง ทั้งนี้ หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.78 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิ.ย.2567 โดยลดลงจากระดับ 5.81 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.4 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จากระดับ 4.8 เท่าในปี 2566
ในอนาคตทริสคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับลดลง ส่วนผลการดำเนินงานน่าจะดีขึ้นจากการมีสัดส่วนรายได้จากสินค้านวัตกรรม ซึ่งมีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและแผนการลดต้นทุน ทั้งนี้ สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.4-4.8 เท่าในปี 2567-2569 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 47%-50% ในช่วงเวลาเดียวกัน
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำระดับโลกซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยมีปลาทูน่าซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้สูงสุดในสัดส่วน 36% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2566 สินค้ายังประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกุ้งและสินค้าที่เกี่ยวข้อง (24%) อาหารสัตว์เลี้ยง (11%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอร์เรล (8%) ปลาแซลมอน (8%) รวมทั้งสินค้ามูลค่าเพิ่มและสินค้าอื่น ๆ (12%)
การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบที่สูงกว่า นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันยังเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทใช้ประโยชน์สูงสุดจากผลพลอยได้จากการผลิตต่าง ๆ อีกด้วย เช่น การนำก้าง หนัง และน้ำมันจากปลามาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันและน้ำมันสกัดจากปลาทูน่า รวมทั้งแคลเซียมจากกระดูกปลาทูน่า เป็นต้น
บริษัทฯมีการกระจายตัวที่หลากหลายในเชิงภูมิศาสตร์ทั้งในด้านฐานการผลิตและตลาดช่วยลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจลงได้บางส่วน โดยมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ใน 15 ประเทศ ซึ่งครอบคลุม 4 ทวีป นอกจากนี้ บริษัทยังมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ด้วยโดยรายได้จากทวีปอเมริกาเหนือซึ่งเป็นตลาดหลักคิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้รวมในปี 2566 รองลงมาคือตลาดยุโรป (30%) ประเทศไทย (12%) ประเทศญี่ปุ่น (6%) และประเทศอื่น ๆ (13%) ทั้งนี้ ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์นั้นมีเป้าหมายเพื่อจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดจากโรคระบาดต่าง ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้า (Trade Barrier) และกฎเกณฑ์ในอุตสาหกรรมการจับปลาทั่วโลก
ทริสฯประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยบริษัทมีหนี้สินทางการเงินระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 9.5 พันล้านบาทในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายลงทุนตามแผนจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 4-5 พันล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงาน ซึ่งทริสคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 พันล้านบาทในปี 2567 นอกจากนี้ สภาพคล่อง ยังมาจากเงินสดและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นจำนวนทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2567 ตลอดจนวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันทางการเงินอีกหลายแห่งด้วย
ด้านโครงสร้างหนี้ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2567 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยซึ่งรวมหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนเต็มจำนวนแต่ไม่รวมภาระผูกพันในสัญญาเช่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 7.05 หมื่นล้านบาท โดยมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 1.1 พันล้านบาทซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวมที่ระดับ 2%
แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทั้งนี้ ทริสคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ให้อยู่ที่ระดับประมาณ 4-5 เท่าเอาไว้ได้