ดาวโจนส์ปิดบวก 61 จุด รอข้อมูลบริโภค PCE ชี้นำดอกเบี้ย

HoonSmart.com>>ดาวโจนส์ปิดบวก 61 จุด ปิดที่ 42,124.65 จุด ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง รอข้อมูลดัชนีราคาการใช้จ่ายการบริโภคส่วนบุคคล (PCE)  หาสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างมากอีกครั้ง   ตลาดหุ้นยุโรปเพิ่มขึ้น คาดธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นในปีนี้ ด้านราคาน้ำมันดิบลดลง 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 23 ก.ย. 2567 ปิดที่ 42,124.65 จุด เพิ่มขึ้น 61.29 จุด หรือ +0.15% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง นักลงทุนยังคงขานรับการปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ขณะที่จับตาการให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดและการรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างมากอีกครั้ง

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,718.57 จุด เพิ่มขึ้น 16.02 จุด, +0.28% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,974.27 จุด เพิ่มขึ้น 25.95 จุด, +0.14%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนพันธบัตรยังคงให้น้ำหนักน้อยที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเกิดภาวะถดถอยในระยะสั้น
นักลงทุนหันความสนใจไปที่การให้ความเห็นของผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ 3 คนในวันจันทร์ ที่อธิบายว่าทำไมถึงสนับสนุนให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% แทนที่จะลดน้อยในครั้งแรก โดยชี้ไปที่การคุมอัตราเงินเฟ้อที่มีความคืบหน้าและตลาดงานที่คลายความร้อนแรง

โดยนายนีล คาชคารี ประธานเฟด สาขามินนีอาโพลิส มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ขณะที่นายออสตัน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโก คาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีหน้า ส่วนนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานตามปกติ และเฟดก็จำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติเช่นกัน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในการประชุมว่าด้วยตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีนี้

ควินซี ครอสบี หัวหน้านักกลยุทธ์ระดับโลกของ LPL Financial กล่าวว่า นักลงทุนต้องการเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ไม่ได้มาจากความเห็นของ FOMC ว่าต้องลงดอกเบี้ยด่วน แต่มาจากความจริงที่ว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง

ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ บ่งชี้ว่ามีโอกาส 54% ที่จะปรับลดดอกเบี้ย 0.25%ในเดือนพฤศจิกายน และมีโอกาส 46% ที่จะลด 0.50% จากข้อมูล LSEG และสำหรับปี 2024 ตลาดฟิวเจอร์สคาดว่าจะลดลงประมาณ 0.78%

นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนี PCE เดือนสิงหาคม ในวันศุกร์นี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ นักวิเคราะห์คาดว่า Core PCE จะเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% ต่อปี และ headline PCE จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 2.3%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่รายงานเมื่อวานนี้ S&P Global เผยแพร่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(Purchasing Managers’ Index ) ที่สะท้อนว่ากิจกรรมการผลิตในสหรัฐฯ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนในเดือนกันยายน โดยPMI ภาคการผลิตอยู่ที่ 47.0 ลดลงจาก 47.9 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 และต่ำกว่า 48.4 ที่นักวิเคราะห์คาด ส่วน PMIภาคบริการ อยู่ที่ 55.4 สอดคล้องกับที่คาดไว้ และเพิ่มขึ้น 0.2 จุดจากเดือนสิงหาคม

ส่วนความเคลื่อนไหวหุ้นรายตัว หุ้น Intel เพิ่มมากกว่า 3% หลังมีรายงานของ Bloomberg ว่า Apollo Global เสนอลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในบริษัท

หุ้น Tesla -พุ่งขึ้น 4.8% หลังจากที่ Barclays ย้ำคำแนะนำการลงทุน equal weight โดยกล่าวว่าตัวเลขการส่งมอบในไตรมาสที่สามของบริษัทอาจออกมาดีกว่าที่คาดไว้ และเป็นผลบวกในระยะสั้น สำหรับหุ้นหุ้น General Motors ลดลง 1.72% หลังนักวิเคราะห์ของ Bernstein ปรับลดคำแนะนำการลงทุนเป็น Market Perform จาก Outperform

ตลาดยุโรปปิดบวก จากความคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นในปีนี้ หลังการรายงานข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจที่ชะลอตัวลง ขณะที่หุ้นที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ทั้ง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคปรับตัวขึ้น
หุ้นกลุ่มรถยนต์นำการปรับขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 1.9% ส่วนกลุ่มค้าปลีกก็เพิ่มขึ้น 1.2% เช่นกัน

S&P Global รายงาน กิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนหดตัวอย่างรวดเร็วและมากกว่าในเดือนนี้ โดยภาคการผลิตชะลอตัวลงอีก ขณะที่ภาคบริการทรงตัว และ กิจกรรมทางธุรกิจในเยอรมนีและฝรั่งเศสหดตัวลงอีก

ธนาคารฝรั่งเศสทั้ง Credit Agricole, SocGen และ BNP Paribas ปรับตัวลงส่งผลให้ดัชนีกลุ่มธนาคารในยูโรโซนร่วงลง 1.8%

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1.3% ขณะที่กลุ่มสาธารณูปโภค ซึ่งจัดว่าเป็นตัวแทนพันธบัตร เพิ่มขึ้น 1.1%
ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนและเมื่อต้นเดือนกันยายน

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ขณะนี้ความสนใจอยู่ที่การให้ความเห็นจากผู้กำหนดนโยบายเพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

นักลงทุนยังจับตาการตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์และสวีเดนในปลายสัปดาห์นี้

ส่วนความเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัวนั้น หุ้น Commerzbank ของเยอรมนีร่วงลง 5.7% หลังจากที่ทางการกล่าวว่าไม่สนับสนุนการเทคโอเวอร์โดย UniCredit ของอิตาลี หุ้น UniCredit ปิดลดลง 3.3%
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 516.32 จุด เพิ่มขึ้น 2.06 จุด, +0.40%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,259.71 จุด เพิ่มขึ้น 29.72 จุด, +0.36%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,508.08 จุด เพิ่มขึ้น 7.82 จุด, +0.10%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,846.79 จุด เพิ่มขึ้น 126.78 จุด, +0.68%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 63 เซนต์ หรือ 0.89% ปิดที่ 70.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 59 เซนต์ หรือ 0.79% ปิดที่ 73.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล