HoonSmart.com>>‘วายุภักษ์ หนึ่ง’ ปิดการขาย 1.5 แสนล้านบาท ตรวจผลจัดสรร 25 ก.ย.นี้ ทางเว็บไซต์ SETTRADE คาดหน่วยลงทุนประเภท ก.ซื้อขายในตลาดสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนต.ค.นี้ บล. CGSI เพิ่มเป้า SET Index ปีนี้ 1,480 ปี 68 เป้า 1,630 จุด จากดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ ลงเร็วกว่าคาด ค่าเงินแข็งต่ำกว่า 33 บาท เอกชนร่วมพลัง กดดัน กนง.ลดดอกเบี้ย แก้บาทดิ่ง 10% ใน 3 เดือนแข่งไม่ไหว 34 บาทเหมาะสม กลุ่มเกษตร-อาหารกระทบแล้ว 5 หมื่นล้านบาท หุ้นอาหาร-อาหารสัตว์ ร่วง
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง หรือ VAYU1 เปิดเผยว่า การเปิดจองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เมื่อวันที่ 16–20 ก.ย. 2567 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุนรายย่อย และได้รับความสนใจอย่างมากจากการสำรวจความต้องการจองซื้อของผู้ลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) เมื่อวันที่ 18-20 ก.ย.2567 โดยมีมูลค่าความต้องการรวมมากกว่ามูลค่าที่ต้องการระดมทุนสูงสุดที่ 150,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อกองทุนฯ การกำหนดกลไกคุ้มครองเงินลงทุนและผลตอบแทน รวมทั้งกลไกในการบริหารความเสี่ยงของกองทุนฯ ซึ่งส่งผลให้กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ล่าสุดจึงกำหนดจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายสุดท้ายที่ 15,000 ล้านหน่วย (ราคาเสนอขายหน่วยละ 10 บาท)
นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า ผู้ลงทุนรายย่อยที่จองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่จัดสรรด้วยวิธี Small Lot First สามารถตรวจสอบผลการจัดสรรหน่วยลงทุนได้ตั้งแต่วันพุธที่ 25 ก.ย. 2567 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ของ SETTRADE (www.settrade.com/ipo/VAYU1)
ส่วนผู้ลงทุนสถาบันเริ่มจองซื้อวันที่ 25-27 ก.ย. 2567 และคาดว่าหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนต.ค. 2567 ผู้ที่ต้องการลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทุกวันทำการ โดยราคาหน่วยลงทุนในตลาดรองจะเป็นไปตามกลไกของราคาตลาด
ด้านบล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) CGSI ปรับเพิ่มเป้าหมาย SET Index ปีนี้เป็น 1,480 จุด จากเดิม 1,420 จุด มองหุ้นไทยจะมีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไทยและสหรัฐฯ เร็วกว่าคาด และเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นอีก ขณะที่คาด SET Index ปี 2568 จะอยู่ที่ 1,630 จุด
เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ Bloomberg consensus คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25-0.5%ในการประชุมสองครั้งถัดไป พ.ย.และธ.ค. คาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจไทยอ่อนตัวและเงินบาทแข็งค่า น่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 2.25% ในการประชุมวันที่ 16 ต.ค.67 นี้
“แนวโน้มเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยมากขึ้น จะเป็นผลดีกับหุ้น big cap เช่น กลุ่มธนาคารและกลุ่มอุปโภคบริโภค เพิ่มหุ้น KBANK และ CPN เข้ามาอยู่ในรายชื่อหุ้น Top pick และ sentiment ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์น่าจะดีขึ้น เพิ่มหุ้น SIRI เข้ามาด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทไทยน่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่มส่งออก, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 อาจชะลอตัวกว่าที่คาด เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ของรัฐบาล วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท น่าจะต้องเลื่อนไปเป็นปีหน้า อย่างไรก็ตามแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไทยและสหรัฐฯเร็วกว่าคาด และการที่เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นอีก ในปี 67-68 จึงปรับเพิ่มเป้าดัชนี SET สิ้นปี 67 นี้เป็น 1,480 จุด เท่ากับ P/E 16 เท่าในปี 68 หรือ -0.75SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี จากเดิม 1,420 จุด เท่ากับ P/E 15 เท่าในปี 68 , – 1SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี
ขณะที่สิ้นปี 68 นั้น มองเป้าหมายดัชนี SET อยู่ที่ 1,630 จุด เท่ากับ P/E 16 เท่าในปี 69 หรืออยู่ที่ -0.75SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปีเช่นกัน สำหรับรายชื่อหุ้น Top pick ประกอบด้วย AMATA, BBL, BCH, CBG, CPALL, CPN, CRC, KBANK, KLINIQ, PTTEP และ SIRI
ทางด้านหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมภาคเอกชน แถลงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก เฟดปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ 0.50% น่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่แข็งจนเกินไป
“เงินบาทแข็งค่าที่ราว 33 บาท/ดอลลาร์ กระทบรายได้ส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารหายไปแล้วราว 50,000 ล้านบาท และอาจหายไปถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท หากเงินบาทยังแข็งค่าอยู่ในระดับนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี ใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่จะเข้ามาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์กล่าว
นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งมากถึง 10% ราคาไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญได้ เช่น เวียดนาม แข็งค่า 3.7% อินเดียอ่อนลง 0.6% และปากีสถานแข็งเพียง 1% ซึ่งทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าว FOB เพิ่มขึ้นถึง 15 ดอลลาร์/ตัน ถ้าปีหน้าอินเดียวกลับมาส่งออกข้าวได้ตามปกติ ในขณะที่ค่าเงินอ่อน จะกระทบไทยหนักมาก อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้ ไทยอาจส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8-8.5 ล้านตัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2567 ไทยจะยังเผชิญการขาดดุลการค้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดย 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลไปแล้ว -6,616 ล้านดอลลาร์ฯ (-23%YoY)
ด้านตลาดหุ้นวันที่ 23 ก.ย.67 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,447.90 จุด ลดลง 3.79 จุด หรือ -0.26% มูลค่าซื้อขาย 50,673.11 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 434.81 ล้านบาท สวนทางนักลงทุนไทยขาย 770.26 ล้านบาท สถาบันขาย 184.88 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทแข็งเล็กน้อยปิดที่ 32.99 บาท/ดอลลาร์
นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นแกว่งไซด์เวย์ในกรอบ กังวลเงินบาทที่แข็งค่า กลัวแบงก์ชาติจะเข้ามาแทรกแซง หากเข้ามาจริงเงินบาทจะอ่อนค่า อาจเห็นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติได้ ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบสลับกัน
ราคาหุ้นกลุ่มอาหารและอาหารสัตว์ปรับตัวลงแรงกว่าตลาด เช่น AAI ปิดที่ 5.20 บาท ร่วงลง -6.31% ASIAN ปิดที่ 8.80 บาทไหลลง -4.86% TFM ปิดที่ 8.20 บาท-2.38% และCPF ปิดที่ 24.10 บาท -2.03%