“OKJ” ขวัญใจสถาบัน ล้น 11 เท่า OR ซื้อเพิ่ม รายย่อยว่าไงกับ P/E 24 เท่า

HoonSmart.com>>บล.บัวหลวงเผยลูกค้าสถาบันจองซื้อหุ้น OKJ ล้น 11 เท่าสะท้อนแนวโน้มสินค้าสุขภาพมาแรง ให้ราคาพื้นฐานที่ 7.9-8.1 บาท ย้ำ P/E 24 เท่าเหมาะสมมีแนวโน้มลดลงอีกในปีหน้า เตือนเทรดวันแรก 4 ต.ค.OR ซื้อบิ๊กล็อต 31.8 ล้านหุ้นอย่าตกใจ ด้านทีมบริหารปลูกผักเพราะรักแม่เตรียมนำเงินไปขยายครัวกลาง เปิดสาขาใหม่ เกาะติดคาเฟ่อเมซอน พีทีทีสเตชั่น ในกลุ่ม OR ปลื้มสมาชิกทั้งจำนวนราย-ยอดใช้จ่ายต่อบิลพุ่ง 80%

น.ส.อาทิตยา ปัญจทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) หรือ ที่รู้จักกันในแบรนด์ โอ้กะจู๋ กล่าวว่า OKJ จะนำเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน IP0 159 ล้านหุ้น หรือ 26.1% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ในราคา 6.70 บาท มี P/E 12 เดือนย้อนหลัง ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2567 อยู่ที่ 24 เท่า ซึ่งราคานี้เป็นระดับสูงสุดที่ทางบล.บัวหลวงอนุญาตให้นักลงทุนสถาบันทำการเสนอราคาจองซื้อเข้ามา มีการจัดสรรหุ้นให้นักลงทุนสถาบัน 50% หรือ 79.5 ล้านหุ้น เท่ากับ 350 ล้านบาท โดยมีสถาบันจองซื้อเข้ามากว่า 10 ราย มียอดจองซื้อหุ้นเกินถึง 11 เท่า ส่วนรายย่อยให้จองซื้อในวันที่ 23-25 ก.ย.นี้

ระยะเวลาการห้ามขายหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม จะมีการนำหุ้นล็อคไว้ 55% กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ จะมีการนำหุ้นมาล็อคไว้กับทาง บล.บัวหลวงเพิ่มเติมอีกเป็นเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดจำหน่ายหลัก คือ บล.บัวหลวง มีบริษัทหลักทรัพย์ 2 รายร่วมจัดจำหน่าย ได้แก่ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง และ บล.ซีจีเอส อินเตอร์แนชั่นแนล (ประเทศไทย)

นโยบายปันผล ไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

เทรดวันแรกมีบิ๊กล็อต

ก่อน IPO คือ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท OKJ 3 ราย ถิอหุ้น 80% และ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ (Modulus) บริษัทลูกของ OR ถือหุ้น 20%
หลัง IPO จะทำให้หุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมลดลง ซึ่งทาง OR ต้องการที่จะคงสัดส่วนการถือหุ้นไว้ที่ 20% ไว้เท่าเดิม วันเทรดวันแรก 4 ต.ค.2567 ทาง OR จะเสนอซื้อหุ้นจากผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท 3 ราย จำนวน 31.8 ล้านหุ้น หรือประมาณ 5.2% ฉะนั้นนักลงทุนไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นการปรับโครงสร้างภายในระหว่างผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งทาง OR มีความมั่นใจในธุรกิจและศักยภาพของบริษัทจึงเข้ามาซื้อและถือหุ้นเพิ่ม

P/E 24 เท่ามีแนวโน้มลดลง
น.ส.อาทิตยา กล่าวว่า P/E 24 เท่าในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และต่ำกว่าบริษัทที่ทำธุรกิจร้านอาหารที่เข้าตลาดก่อนหน้านี้ที่เทรดกันอยู่ที่ 30 เท่า โดย P/E ของ OKJ มีแนวโน้มที่จะลดลงในปีหน้าหากกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น โดยทางบล.บัวหลวง ประเมินราคาหุ้นพื้นฐานไว้ที่ 7.9-8.1 บาท

ส่องฐานะการเงิน
น.ส.ภวิษย์เพ็ญ เหล่ารัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บัญชีและการเงิน OKJ กล่าวว่า รายได้ 3 ปี นับจากปี 2564-2566 โตเฉลี่ย 46% โดยสามารถก้าวข้ามวิกฤติโควิดที่ถูกสั่งปิดร้านเพราะรัฐสั่งห้ามนั่งทานในร้าน บริษัทได้เปลี่ยนเป็นการนำส่งถึงบ้านลูกค้าแทน
6 เดือนแรกของปี 2567 รายได้จากการขาย 1,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จาก 37 สาขา แยกเป็นสาขาเต็มรูปแบบ 30 แห่ง จากร้านที่ทำการจัดส่งและคีออส 4 แห่ง และจากแบรนด์ใหม่ โอ้กะจู๋ แรพ แอนด์ โรล 1 แห่ง และ แบรนด์ โอ้!จุ้ยส์ 2 แห่ง
กำไรขั้นต้น อยู่ที่ 488 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 44.5% มีต้นทุนอยู่ที่ 55% โดย 35% คือต้นทุนวัตถุดิบ รองจากนั้นคือ ค่าแรงพนักงานครัว

ค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร 365 ล้านบาท คิดเป็น 33.3% อันดับ 1 คือค่าแรงของพนักงานบริการ หากแยกย่อยลงไปอีกค่าแรงที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อรายได้อยู่ที่ 13% ส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าแรงในการให้บริการหน้าร้าน 8% ที่เหลือเป็นค่าแรงของทีมควบคุมคุณภาพ การส่งมอบคุณภาพอาหาร บริการ ส่วนการใช้จ่ายค่าการทำตลาดนั้นคุมไม่เกิน 2% ทำให้ EBITDA เติบโตขึ้นทุกปี
EBITDA 6 เดือนแรกอยู่ที่ 19.8% กำไรสุทธิ 102 ล้านบาท อยู่ที่ 9.2%

สินทรัพย์รวม 1,339 ล้านบาท แยกเป็นสาขา 700 ล้านบาท โดยมีเงินสด 200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้สินที่เกิดจากการเช่าพื้นที่เปิดสาขา ส่วนเงินกู้มีอยู่ 190 ล้านบาท
ส่วนผู้ถือหุ้น เติบโตทุกปีล่าสุดมี 600 ล้านบาท โดย 200 ล้านบาทมาจากกำไรสะสม ซึ่งจากนโยบายปันผล 40% ของกำไร โดยปีนี้จะไม่มีการจ่ายปันผล
หนี้สินต่อทุน ค่อนข้างต่ำที่ 0.7% หลังการเพิ่มทุน 159 ล้านหุ้น จะทำให้หนี้สินต่ำลงไปอีกเหลือประมาณ 0.1 เท่า
อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ ROE อยู่ที่ 28.7%

เงินจากการระดมทุน 1,023.9 ล้านบาทใช้ไปกับ?
75% หรือ 753.9-758.9 ล้านบาทจะถูกนำไปลงทุนสร้างการเติบโตและขยายธุรกิจ แบรนด์โอ้กะจู๋ เดิม และ แบรนด์ใหม่ รวมถึง new s curve ใหม่ๆ 190-230 ล้านบาท ใช้ไปกับการสร้างครัวกลางกรุงเทพฯแห่งใหม่และลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
30-50 ล้านบาท ใช้ไปกับการพัฒนาเครื่องจักร การนำนวัตกรรมมาใช้กับการทำฟาร์ม

โอกาสเติบโต
นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OKJ กล่าวว่า จะทำการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 90 สาขา ภายในปี 2571 จากปัจจุบัน 37 สาขา และจะเข้าสู่ห้างสรรพสินค้าซึ่งปัจจุบันเข้าไป 3-4 แห่งเท่านั้น ยังมีโอกาสที่จะขยายได้อีก และด้วยจุดแข็งที่เป็นสินค้าสุขภาพทำให้ได้เงื่อนไขพิเศษจากห้างทำให้ขยายได้ไว้ขึ้น

ขยายสาขาในปั๊มน้ำมันปตท.จากปัจจุบันมี 4 สาขาให้มากขึ้น ช่องทางทำยอดขายสูงสุดอันดับที่ 5 เป็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากจากพีทีทีสเตชั่นทั้งหมด 2,100 สาขา แต่ไม่ได้เปิดทั้งหมดจะเลือกจุดที่มีศักยภาพ
น.ส.เบญญาภา เตชะมณีสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ OKJ กล่าวว่า จะขยายแบรนด์ใหม่ คือ โอ้กะจู๋ แรพ แอนด์ โรล และ โอ้!จุ้ยส์ เพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ 5% จะเพิ่มเป็น 25% ในปี 2571
แบรนด์ โอ้กะจู๋ แรพ แอนด์ โรล จะไปเปิดในโรงพยาบาล สำนักงานออฟฟิศ พีทีที สเตชั่น เพราะใช้พื้นที่น้อย 1 ใน 4 ของแบรนด์โอ้กะจู่ รูปแบบเดิม ทำให้เปิดได้ง่ายและเร็ว ซึ่งจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เทรนด์ของการตระหนักถึงสุขภาพของลูกค้า และลูกค้าเลือกเองได้
แบรนด์ โอ้!จุ้ยส์ สมูทตี้ผักผลไม้ โปรตีน ที่จะมีสูตรเหมาะสม กับทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก สูงวัย คนท้อง และคนที่ออกกำลังกาย ที่จะจัดให้เหมาะกับปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายแต่ละวันซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่ทุกคนต้องการมีอายุยืนยาวมีสุขภาพที่ดี

จุดแข็งการแข่งขัน
น.ส.เบญญาภา กล่าวว่า จุดแตกต่างจากร้านสลัด หรือร้านอาหารสุขภาพทั่วๆ คือ มีผัก 30 ชนิด มีการทำวิจัยอยู่ตลอดเวลาใน 3 ด้าน คือ การปลูกผักใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาดและเชฟ การปรุงของครัวกลางก่อนที่จะส่งไปหน้าร้านจะไม่ใช้สารเคมี การปรุงรสชาตอาหารเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป
ระบบสมาชิก ที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปัจจุบันมีถึง 5 หมื่นราย ที่สร้างรายได้สัดส่วน 25% ของรายได้รวม โดยปีนี้ยอดการใช้จ่ายต่อบิลต่อปีต่อคนของลูกค้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 20,000 บาท จากปี 2566 อยู่ที่ 13,000 บาท ทั้งรายได้และจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 80%

นายจิรายุทธ ภูวพูนผล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานเกษตรอัจฉริยะ OKJ กล่าวว่า บริษัทมีพื้นที่ปลูกผักตามกระบวนการเกษตรอินทรีย 5 แห่ง รวม 380 ไร่ ได้รับการรับรองมาตรฐาน IFOAM จากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ USDA Organic มาตรฐานรับรองอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของสหรัฐอเมริกา มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป
พื้นที่ทั้ง 5 แห่ง มีการทำจุดรับน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ผัก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีผักเพียงพอในการส่งเข้าสู่ร้านอาหาร
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่สูงของภาคเหนือ ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกผักอินทรีย์ตามแนวทางของบริษัทเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยบริษัทเป็นผู้รับซื้อทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 30% และบริษัทปลูกเอง 70%
นายวรเดช สุชัยบุญศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชน OKJ กล่าวว่า ผักถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะต้องสามารถจัดส่งผลผลิตที่สดใหม่จากสวนถึงหน้าร้านสาขาให้ได้ภายใน 28 ชั่วโมง ซึ่งบริษัทมีระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ บริหารจัดการครัวกลาง บริหารจัดการสาขา การวางแผนร่วมกับผู้ให้บริการด้านโลจีสติกส์ในการขนส่งและการบริหารจัดการศูนย์กระจายสินค้า