ดาวโจนส์ปิดบวก 297 จุด หวังเฟดดอกเบี้ย 0.50%

HoonSmart.com>> ตลาดุหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง 3 ดัชนีหลักปิดบวก ดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 297 จุด นักลงทุนคาดหวังเฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ประชุม 17-18 ก.ย.นี้ ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ” WTI ลดลง 32 เซนต์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดบวก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 13 กันยายน 2567 ปิดที่ 41,393.78 จุด เพิ่มขึ้น 297.01 จุด หรือ +0.72% จากความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,626.02 จุด เพิ่มขึ้น 30.26 จุด, +0.54%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,683.98 จุด เพิ่มขึ้น 114.30 จุด, +0.65%

สัปดาห์นี้ ถือเป็นสัปดาห์ที่แข็งแกร่งที่สุดในปี 2024 สำหรับดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq และปรับขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ห้า โดยดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 4.02% และห่างจาก all-time high ในเดือนกรกฎาคม ไม่ถึง 1% ดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 5.95% ส่วนดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 2.60%

หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค บริการการสื่อสาร และอุตสาหกรรม นำการปรับขึ้นของตลาด โดยแต่ละกลุ่มเพิ่มขึ้นประมาณ 1%

นักลงทุนยังคงซื้อหุ้นเทคโนโลยี megacap และเซมิคอนดักเตอร์ เพิ่ม ซึ่งช่วยหนุนการฟื้นตัวในสัปดาห์นี้ โดยหุ้น Super Micro Computer ผู้ผลิตชิปรายใหญ่เพิ่มขึ้น 3.4% หุ้น Arm Holdings เพิ่มขึ้น 5.9% หุ้น Alphabet บวก 1.8% และ หุ้น Uber เพิ่มขึ้นกว่า 6%

ควินซี ครอสบี หัวหน้านักกลยุทธ์ระดับโลกของ LPL Financial กล่าวว่า นักลงทุนต่างจับตาความผันผวนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากความคาดหวังต่อการประชุมของเฟด และชี้ว่า ตามรูปแบบที่ผ่านมา หุ้นมักจะมีผลการดำเนินงานที่แย่ที่สุดของปีในช่วงครึ่งหลังของเดือนกันยายน

ตลาดจับตาการประชุมนโยบายของเฟด ในวันที่ 17-18 กันยายน ซึ่งเทรดเดอร์ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 49% จาก 15% ในวันพฤหัสบดีที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% จากอัตราปัจจุบันที่ 5.25- 5.5%

นอกจากนี้นายบิล ดัดลีย์ อดีตประธานเฟดสาขานิวยอร์กให้ความเห็นว่า มีน้ำหนักมากขึ้นที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลง 0.50% โดยที่ชี้ไปถึงตลาดแรงงานสหรัฐที่ชะลอตัว และมีความเสี่ยงจากการจ้างงานมากกว่าความท้าทายเรื่องเงินเฟ้อ และชี้ไปที่ความเห็นของประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ ที่แจ็คสัน โฮล เมื่อเดือนที่แล้ว ที่เน้นย้ำว่าไม่ต้องการเห็นความอ่อนแอด้านแรงงานอีกต่อไป

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อก็ดูเหมือนจะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์

ในวันศุกร์มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นในเดือนกันยายนจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมาที่ 69.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และสูงกว่า 68.3 ที่นักวิเคราะห์คาด

ตลาดยุโรปปิดบวก จากแรงหนุนของหุ้นเทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์ และเหมืองแร่ ขณะที่นักลงทุนหันความสนใจไปที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในสัปดาห์หน้า

ในสัปดาห์นี้ ดัชนี STOXX 600 เพิ่มขึ้นมากกว่า 1%

ตลาดหุ้นเยอรมนีปรับขึ้นดีกว่าตลาดอื่นๆ ในยุโรป โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 1% ด้วยแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของหุ้น Siemens Energy และ SAP

ดัชนี CAC 40 ของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากที่ราคาผู้บริโภคในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนสิงหาคม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้น

หุ้นกลุ่มรถยนต์เพิ่มขึ้นมากสุดเพิ่มขึ้น 1.6% และเป็นการปรับขึ้นรายวันที่ดีที่สุดในรอบกว่าหนึ่งเดือน

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หนุนการเพิ่มขึ้นของตลาดมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น 1.3% จากราคาทองแดงแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์จากการซื้อก่อนวันหยุดของจีน และท่ามกลางความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นักลงทุนจับตาการประชุมของเฟด ในสัปดาห์หน้า โดยมองว่ามีโอกาสเกือบ 40% ที่จะลดลง 0.50% ในวันที่ 18 กันยายน

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 8,273.09 จุด เพิ่มขึ้น 32.12 จุด, +0.39%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,273.09 จุด เพิ่มขึ้น 32.12 จุด, +0.39%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,465.25 จุด เพิ่มขึ้น 30.18 จุด, +0.41%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,699.40 จุด เพิ่มขึ้น 181.01 จุด, +0.98%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 32 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 68.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 36 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 71.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล