ปัจจัยบวกใน-นอกท่วมตลาดหุ้น คาดทุนไหลเข้าแรง Q3-Q4

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ฯมั่นใจ SET ไปต่อ พบสัญญาณการกลับตัวสู่แนวโน้มขาขึ้น ทั้งมุมมองนักวิเคราะห์ ตัวเลขเศรษฐกิจ กำไรบจ. เฟดลดดอกเบี้ยหนุนสภาพคล่องตลาดโลกเพิ่ม ทุนนอกเริ่มไหลเข้า รายย่อยใช้สิทธิภาษีปลายปี หนุนไตรมาส 3-4 ดีต่อเนื่อง

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัญญาณทางเศรษฐกิจ และตลาดทุน มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ทั้งจากประมาณการของนักวิเคราะห์ ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งครึ่งปีโตเฉลี่ย 2% การส่งออกเติบโตถึง 15% มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20 กว่าล้านคน และคาดว่าปีนี้จะจบที่ 30 ล้านคน อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 โต 10% มีแนวโน้มที่ดี การฟื้นตัวเริ่มกลับมาอยู่ใกล้เคียงกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย

“ตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลงไป 10%-15% ตอนนี้เริ่มฟื้นกลับขึ้นมาที่เดิมแล้ว รอการยืนยันจากรายได้ของบริษัทจดทะเบียน ถ้าเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 10% เหมือนก่อนโควิด ผมคิดว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์ให้ไว้( SET ที่ 1,500 จุด)ก็ In line กับตัวเลขของเราที่เริ่มฟื้นตัวกลับมา”ดร.ภากร กล่าว

ในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด จะมีการประชุมในวันที่ 18 ก.ย.นี้ หากมีการลดลงทันที 0.50% นั้น ดร.ภากร มองว่า อาจจะทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหาหรือไม่ถึงได้ลดลงมาก แต่ในอีกมุมการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก จะทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อเงินไหลเข้าไปประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เชื่อว่าฟันด์โฟลว์จะยังไหลเข้าไทยได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยด้วย

สำหรับ กลุ่มที่จะได้ผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน แต่จะดีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสินเชื่อที่สามารถปล่อยได้ ถ้าปล่อยเงินกู้ได้น้อย ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งมากขึ้น การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ก็จะได้ประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ และ ประชาชน ต้นทุนในการขยายกิจการก็ลดลง

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีที่ประชาชนจะมีการซื้อกองทุนเพื่อใช้สิทธิทางภาษี จะเป็นปัจจัยในการผลักดันตลาดหุ้นต่อเนื่อง เป็นดีมานด์ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าในช่วงที่เหลือของปี จะมีสภาพคล่องไหลเข้าตลาดหุ้น หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในกองทุน Thai ESG และความชัดเจนในการออกขายกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง ที่มีการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ จะทำให้ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะดีกว่าไตรมาส 1 และ 2

“ตอนนี้เราเห็นจุดกลับตัวของเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น แล้วจากการที่ในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 1.1% หากรวมค่าเงินเข้าไปด้วยจะอยู่ที่ 2.1% จากเดิมที่ค่าเงินทำให้การลงทุนลดลง แต่ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ทำให้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ เดือนส.ค.ถึงวันที่ 9 ก.ย.2567 ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 5.3% แต่ถ้ารวมปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งเข้ามาด้วยจะเพิ่มขึ้น 6% ถือว่าโตสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่ได้เห็นมานานแล้ว ถือว่าเป็น Turning point (จุดกลับตัว) ที่สำคัญ”ดร.ศรพล กล่าว

ดร.ศรพล กล่าวว่า ตัวสะท้อนเศรษฐกิจของประเทศหลายอย่าง ส่งสัญญาณดีขึ้น จุดที่ต้องจับตาคือ การประชุมของเฟดในวันที่ 18 ก.ย. 2567 ว่าจะลดดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ถ้าไม่มี Hard Landing ของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของประเทศไทยจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

“จากงานไทยแลนด์โฟกัส นักลงทุนต่างชาติสนใจกลุ่มบริการ กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย และที่เป็นจุดกลับตัวสำคัญคือ ตั้งแต่ต้นปียังไม่เห็นกองทุนเข้ามาลงทุนเยอะ แต่หลังจากที่เราผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญ ก็จะเป็นจุดที่เขาเริ่มมองไทยเป็นบวกแล้ว”ดร.ศรพล กล่าว

ดร.ศรพล กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนไทยหันมาใช้การซื้อหุ้นคืนเป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการซื้อหุ้นคืนยังช่วยส่งสัญญาณให้ผู้ลงทุนทราบว่าผู้บริหารมีความมั่นใจว่าราคาหุ้นในปัจจุบันถูกประเมินต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัทและกระตุ้นความต้องการซื้อหุ้นในตลาด

สำหรับ กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คือ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และ กลุ่มเกษตรและอาหาร ผลจากการบริโภคที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการซื้อขายเดือนส.ค.ลดลง โดยนักลงทุนต่างประเทศหากไม่รวมรายการซื้อขายพิเศษ จะมียอดซื้อสุทธิ และถ้านับถึงวันที่ 9 ก.ย.มียอดซื้อสุทธิ 20,000 ล้านบาท

ด้านบริษัทที่เข้าจดทะเบียนใหม่ ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาไม่มี แต่มีบริษัทที่อยู่ระหว่างรอจังหวะเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai ประมาณ 30 บริษัท