กองทุนรวม 8 เดือนโต 6.89% หนุน AUM ทำนิวไฮจ่อ 5.5 ล้านลบ.

HoonSmart.com>> กองทุนรวม 8 เดือนแรกปี 67 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) เฉียดแตะ 5.5 ล้านล้านบาท ทำนิวไฮ เพิ่มขึ้น 3.54 แสนล้านบาท กว่า 6.89% จากสิ้นปีก่อน “กองทุนตราสารหนี้”โต 3 แสนล้านบาท หนุนมูลค่า 2.66 ล้านล้านบาท ด้านกองทุนต่างประเทศ (FIF) ดีต่อเนื่อง กลุ่ม “กองทุนลดภาษี” น้องใหม่ ThaiESG โต 51.41% ใกล้แตะ 8,000 ล้านบาท ด้าน “บลจ.แอสทเซท พลัส” มูลค่าทรัพย์สินลดลง 48.10% หลังเลิกกองทุน ASP-DPLUS เซ่น EA

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) ของกองทุนรวมทั้งระบบ ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้งหมดจำนวน 23 แห่ง ในช่วง 8 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.2567 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ 5,499,672 ล้านบาท เติบโต 354,592 ล้านบาท หรือ 6.89% จากสิ้นปี 2566 มี NAV อยู่ที่ 5,145,077 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมีมูลค่า 5,407,414 ล้านบาท

กองทุนตราสารหนี้ มีมูลค่า NAV สูงสุด ยังเติบโตต่อเนื่อง 300,778 ล้านบาท หรือ 12.73% อยู่ที่ 2,663,032 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมา และมีสัดส่วน 48.42% เมื่อเทียบกองทุนรวมทั้งระบบ

กองทุนตราสารทุน มีขนาดใหญ่อันดับสองมี NAV พลิกกลับขึ้นมาเติบโต 25,460 ล้านบาท หรือ 1.60% จากสิ้นปีที่ผ่านมา NAV ส่งผลให้ NAV ขึ้นมาอยู่ที่ 1,619,719 ล้านบาท

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน NAV อยู่ที่ 355,516 ล้านบาท ลดลง 12,891 ล้านบาท หรือ -3.50% จากสิ้นปีที่ผ่านมา

กองทุนรวมผสม NAV อยู่ที่ 340,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,815 ล้านบาท หรือ 2.04% จากสิ้นปีที่ผ่านมา

ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) NAV อยู่ที่ 258,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,450 ล้านบาท หรือ 11.39% จากสิ้นปีที่ผ่านมา

หากแยกรายประเภทกองทุนในช่วง 8 เดือนแรก กองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) เติบโตต่อเนื่อง 222,823 ล้านบาท หรือ 21.30% NAV เพิ่มขึ้นแตะ 1,268,974 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาและเติบโต 42,396 ล้านบาท จากสิ้นเดือนก.ค.

ด้านกลุ่มกองทุนลดหย่อนภาษี อย่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มี NAV ขยับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 432,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,650 ล้านบาท หรือ 2.77% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ส่วนกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (SSF) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน NAV อยู่ที่ 61,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,074 ล้านบาท หรือ 12.93% และกองทุน ThaiESG มี NAV ขยับขึ้นแตะ 7,974 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,708 ล้านบาทหรือ 51.41% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5,267 ล้านบาท

ขณะที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สิ้นสุดโครงการและหมดสิทธิ์ประโยชน์ภาษีไปแล้ว นักลงทุนขายกองทุนออกต่อเนื่อง ส่งผลให้ NAV ลดลงอยู่ที่ 233,484 ล้านบาท ลดลง 31,914 ล้านบาท หรือ -12.02% จากสิ้นปีที่ผ่านมา แต่ฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก.ค.จำนวน 2,792 ล้านบาท หรือ 1.21% จากราคาหุ้นในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 5 อันดับแรก ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย มูลค่า 1,230,398 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 22.337% รองลงมา บลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 1,032,072 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 18.77% บลจ.บัวหลวง มูลค่า 765,110 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 13.91% บลจ.กรุงไทย มูลค่า 625,409 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 11.37% และบลจ.กรุงศรี มูลค่า 450,662 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 8.19%

ขณะที่บลจ.แอสเซท พลัส มูลค่า NAV ลดลง 21,368 ล้านบาท หรือ 48.10% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 44,427 ล้านบาท เหลือ 23,059 ล้านบาท ส่วนแบ่งเหลือ 0.42% จาก 0.86%

ทั้งนี้ บลจ.แอสซท พลัส เลิกกองทุนเปิด แอสเซท พลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส (ASP-DPLUS) หลังจากผู้ลงทุนแพนิกไถ่ถอนเงินลงทุนออก หลังจากสำนักงานก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ กรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ซึ่งกองทุนมีการลงทุน ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนส่งคำสั่งขายและ/หรือสับเปลี่ยนออกของกองทุน ในระหว่างวันที่ 15-16 ก.ค.2567 มียอดรวมการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิเป็นจำนวนเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด