KTB จ่อลดปันผล สำรองเพิ่ม-มาร์จิ้นหด

ธนาคารกรุงไทยส่งสัญญาณกำไรแผ่ว เล็งลดอัตราเงินปันผลต่ำกว่า 40% ตั้งสำรองเพิ่ม เก็บเงินไว้ขยายธุรกิจ ไม่ต้องเพิ่มทุน ยันสร้างระบบดูแลคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ธุรกิจแข่งดุมาร์จิ้นแคบลง

นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย รองประธานกรรมการ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 27 เม.ย.2561 เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารมีการคุยกันเรื่องเงินปันผลว่าควรจะปรับลดลงหรือไม่ สำหรับงวดปี 2561 หลังจากปี 2560 จ่ายหุ้นละ 0.61 บาท คิดเป็น 40.02% ของกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ธนาคารกรุงไทยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลประมาณ 40% ของกำไรสุทธิ แต่การจ่ายในแต่ละปีจะขึ้นอยู่กับผลกำไรที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินธุรกิจปกติ ที่ผ่านมา ในปี 2559 ธนาคารจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.86 บาท หรืออัตรา 40.13% ของกำไรสุทธิ 32,278 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ(BBL)มีนโยบายจ่ายเงินปันผลเมื่อผลประกอบการของธนาคารมีกำไร ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)จ่ายประมาณ 30-50 %ของกำไรสุทธิในแต่ละปี และธนาคารกสิกรไทย(KBANK)พิจารณาจ่ายโดยคำนึงถึงผลประกอบการและผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยทั้ง 3 ธนาคารมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการจ่ายเงินปันผล

นายไกรฤทธิ์ ให้เหตุผลในการพิจารณาปรับลดเงินปันผลว่า เนื่องจากธนาคารจะมีภาระในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ในปี 2561 รองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2562 เพื่อที่จะไม่เป็นภาระหรือผลกระทบในปีต่อๆไป และยังมีฐานะการเงินแข็งแกร่งเพียงพอ ธนาคารจะพยายามมีกำไรมาเป็นทุนสำรอง ในการขยายสินเชื่อ จึงพยายามเก็บกำไรสะสมไว้ ไม่ให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น ขอเพิ่มทุน


ด้านนาย ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยจ่ายเงินปันผลในปีที่ผ่านมา 40% ของกำไร สูงกว่า ธนาคารบางแห่ง เมื่อเทียบกับธนาคารใหญ่ 4 แห่ง ซึ่งการจ่ายเงินปันผลที่สูงเป็นแนวทางการจ่ายเงินคืนแผ่นดิน ผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ถือหุ้น 55% และกองทุนวายุภักษ์ด้วย

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของกรุงไทยผ่านจุดสูงสุดแล้วหรือยัง นายผยงกล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อต้องมีเอ็นพีแอล แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าการเติบโตของสินเชื่อ นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจธนาคารยังมีเสี่ยงอยู่ แต่กรุงไทยมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าและฐานข้อมูลที่อยู่ในเครื่อง มาช่วยบรรเทาความเสี่ยงมาอยู่ในระดับที่รับได้

“ ที่ผ่านมา เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นตลอด ตอนนี้ เราพยายามควบคุม พร้อมปรับสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทนเพื่อให้เติบโตยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว ซึ่งก็ยอมรับต้องใช้เวลาในการปรับตัว รวมถึงภาวะการแข่งขัน และการให้บริการที่รวดเร็วและสะดวก ส่งผลให้มาร์จิ้นของธนาคารลดลง” นายผยงกล่าว

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องกำไรของธนาคารกรุงไทย จะต้องคำนึงถึงการแยกธุรกิจบัตรเครดิตไปอยู่ที่บริษัทบัตรกรุงไทย(KTC) และธุรกิจลิสซิ่ง แตกต่างจากธนาคารหลายแห่งที่มีธุรกิจดังกล่าวรวมอยู่ในกำไรของธนาคาร

บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัสวิเคราะห์กลุ่มธนาคาร จำนวน 10 แห่ง ให้น้ำหนักลงทุนน้อยกว่าตลาด จากปัจจัยกดดันเดิมๆเช่น ภาระสำรองหนี้ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ โดยเลือกหุ้น ธนาคารกรุงเทพ( BBL) และบริษัททุนธนชาต( TCAP) เป็น top picks

ส่วนการให้คำแนะนำรายตัวให้ซื้อทุกแบงก์ ยกเว้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) และ KTB ที่ให้สลับตัว ให้ราคาเป้าหมาย KTB ที่ 18.90 บาท คาดว่ากำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 1.81 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านอยู่ที่ 1.61 บาทและคาดว่าอัตราผลตอบแทนปันผลเท่ากับ 3.7% สำหรับปี2561