HoonSmart.com>> “ตลาดหุ้นเอเชีย” เช้านี้ร่วงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดวันศุกร์ หลังรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือนส.ค. เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด ด้าน ดัชนี Nikkei” ลดลงไปกว่า 3% ระหว่างเทรด แรงขายหุ้นเทคโนโลยี กลุ่มส่งออก
ตลาดหุ้นโตเกียวเช้านี้ปรับตัวลง ดัชนี Nikkei ลดลงไปกว่า 3% ในช่วงหนึ่ง จากแรงขายในกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มผู้ส่งออก ตามการปรับลงของตลาดหุ้นสหรัฐในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากการแข็งค่าของเงินเยนเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ในกลุ่ม Prime Market กลุ่มที่นำการปรับลง คือ กลุ่มประกันภัย กลุ่มเหมืองแร่ และ กลุ่มอุปกรณ์ขนส่ง
เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในช่วงสั้นๆ ที่ระดับ 141 เยนในนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ หลังจากข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นน้อยกว่า
ที่คาด ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เคที เหลียน กรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ FX ของ BK Asset Management กล่าวในรายการ “Squawk Box Asia” ของ CNBC ว่า ผู้ค้าเงินเยนจะจับตาดูตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความรู้สึกที่จะลดความเสี่ยงนั้นเพิ่มขึ้น และคาดว่า การ unwind yen carry trade(การแลกเงินเยนเพื่อนำไปคืนที่กู้มา โดยการขาย (Short) เงินสกุลดอกสูง หุ้น ทอง นำเงินกลับไป Long เงิน เยน ) ยังมีอย่างต่อเนื่อง และยังคาดจะมีการขายหุ้นอย่างนักในช่วงหนึ่งในเดือนนี้
เวลา 9.00 น. ตามเวลาญี่ปุ่นเงินดอลลาร์อยู่ที่ 142.48-49 เยน จาก 142.11-21 เยนในตลาดนิวยอร์กและจาก 142.51-54 เยนในตลาดโตเกียว เวลา 17.00 น.วันศุกร์
ญี่ปุ่นปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายนเป็น 2.9% เมื่อเทียบรายปี จาก 3.1%ที่รายงานในตอนแรก เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายด้านทุนไม่สูง
เท่าที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีเปิดเผยเช้าวันนี้
แม้ปรับลดตัวเลขลง แต่ถือเป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบสองไตรมาส เนื่องจากผลกระทบเชิงลบจากเรื่องอื้อฉาวด้านความปลอดภัยในภาคยานยนต์ผ่อนคลายลง ซึ่งสนับสนุนองค์ประกอบสำคัญของ GDPผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงเมื่อปรับเงินเฟ้อแล้ว ขยายตัว 0.7% จากไตรมาสก่อน เทียบกับ 0.8% ตัวเลขเบื้องต้น
การลงทุนซึ่งรายงานก่อนหน้านี้ว่าเพิ่มขึ้น 0.9% ขยายตัว 0.8% ในระยะเดือนเมษายน-มิถุนายน สะท้อนถึงกิจกรรมขององค์กรที่ดีขึ้นและการขาดแคลนแรงงานฉับพลัน
การบริโภคภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP เพิ่มขึ้น 0.9%ปรับลดลงจาก 1.0% โดยได้แรงหนุนจากการกลับมาผลิตรถยนต์อีกครั้งของบริษัทในเครือโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และความต้องการเสื้อผ้าและสินค้าอื่นๆ ที่แข็งแกร่ง
กระทรวงการคลังรายงานว่าญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมูลค่า 3.19 ล้านล้านเยน (22.4 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จากการกลับเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ดุลการค้าขาดดุล 482.7 พันล้านเยน จากที่เกินดุล 107.2 พันล้านเยนในระยะเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าผิตภัณฑ์ยาและอุปกรณ์สื่อสารเพิ่มขึ้น
การนำเข้าเพิ่มขึ้น 16.8% มูลค่า 9.90 ล้านล้านเยน การส่งออกเพิ่มขึ้น 9.7% มูลค่า 9.42 ล้านล้านเยน
ณ เวลา 9.48 น. ในประเทศไทย
ดัชนี Nikkei 225 อยู่ที่ 35,651.34 จุด ลดลง 740.13 จุด , -2.03%
ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่แทบทั้งภูมิภาคปรับตัวลง นำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่น หลังการรายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯที่ต่ำกว่าคาด
ในวันศุกร์กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงาน การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่า 165,000 ตำแหน่ง ที่นักวิเคราะห์คาด ส่วนอัตราการว่างงานลดลงจาก 4.3% มาที่ 4.2% ตามคาด นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนกรกฎาคมเป็น 89,000 ตำแหน่ง จาก 114,000 ตำแหน่งที่รายงานก่อนหน้านี้
เมื่อสุดสัปดาห์ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้บรรเทาความวิตก โดยระบุว่ายังไม่เห็นสัญญานเตือนต่อระบบการเงิน และย้ำมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงแบบ soft landing แม้การจ้างงานลดลงก็ตาม
เหอปี้ เฉิน นักวิเคราะห์จาก IG Markets Ltd. กล่าวว่า ตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ น่าจะประสบกับปัญหา เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และหากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวส่งผลกระจายไปทั่วโลก สกุลเงินที่อ่อนไหวต่อความเสี่ยงเช่น ออสเตรเลีย ก็อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักในเร็วนี้
ความสนใจในเอเชียจะอยู่ที่สินทรัพย์ของจีน จากการที่ทางการพยายามที่จะยกระดับความเชื่อมั่น โดยการขจัดข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของของชาวต่างชาติในภาคการผลิตและสุขภาพ
ธนาคารกลางจีนระงับการซื้อทองคำเป็นเดือนที่สี่ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นสัญญาณเพิ่มเติมว่าราคาที่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์กำลังกดดันอุปสงค์ของธนาคารกลางทั่วโลก
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนสิงหาคมของจีนเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ต่ำกว่า 0.7% ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ เมื่อเทียบเป็นรายเดือน CPI เพิ่มขึ้น 0.4% ต่ำกว่า 0.5% ที่คาดไว้ ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 1.8% ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่ 23 และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.4%
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนจับตาการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) รอนานเกินไปที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เพราะความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น
ดัชนี SSE ตลาดหุ้นจีนอยู่ที่ 2,741.86 จุด ลดลง 23.95 จุด, -0.87%
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงอยู่ที่ 17,115.46 จุด ลดลง 328.84 จุด, -1.89%
ดัชนี Kospi ตลาดหุ้นเกาหลีอยู่ที่ 2,519.98 จุด ลดลง 24.3 จุด, -0.96%
ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันอยู่ 21,010.42 จุด ลดลง 424.77 จุด, -1.98%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 0.93 ดอลลาร์ หรือ 1.37% ซื้อขายที่ 68.6 ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 0.91 ดอลลาร์ หรือ 1.28% ซื้อขายที่ 71.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล