KBANK-BAM ขึ้นสวนตลาดฯ มองบวกตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์

HoonSmart.com>>หุ้น KBANK-BAM เพิ่มขึ้นสวนตลาดโดยรวม โบรกฯมองบวกต่อการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพติดตามหนี้-เพิ่มทางเลือกให้ KBANK จัดการ NPL มั่นใจมากขึ้นที่จะเห็นค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) กลับสู่ระดับปกติในปี 68 บล.หยวนต้าแนะซื้อ BAM เล็งเพิ่มเป้าราคา-กำไร ผลจัดเก็บครึ่งปีหลังดีขึ้น รับค่าธรรมเนียม JV 

วันที่ 9 ก.ย.2567 หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปรับตัวขึ้น ราคาปิดที่ 155.50 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาทหรือ 1.97% ด้วยมูลค่าซื้อขายสูงสุดของวันที่ 5,201.99 ล้านบาท และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ราคาปิดที่  9.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ +6.74% มูลค่าซื้อขาย 401.59 ล้านบาท ปรัยตัวขึ้นมากกว่าตลาดโดยรวม ดัชนีปิดที่ 1,431.13 จุด บวก 3.49 จุดหรือ 0.24% มูลค่าการซื้อขาย 87,214.48 ล้านบาท หลังจากบอร์ดมีมติให้ร่วมลงทุนฝ่ายละ 50% ในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์

บล.กรุงศรี แนะนำ”ซื้อ”หุ้น KBANK ราคาเป้าหมายปี 2568 ที่ 155 บาท มีมุมมอง slightly positive ต่อการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์กับ BAM เพราะ BAM มีประสบการณ์ด้านบริหารหนี้เสียและติดตามหนี้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภายในการติดตามหนี้และเพิ่มทางเลือกให้ KBANK ในการจัดการกับ NPL นอกจากนั้น KBANK ยังมีส่วนแบ่งจากการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 50% ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ของ KBANK ในทางบวกและการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์เพิ่มอีก 1 แห่ง ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นที่จะเห็นค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) กลับสู่ระดับปกติในปี 2568

ปัจจุบันบริษัทร่วมทุนอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหลังจากได้ใบอนุญาตแล้วเราคาดว่าจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียน

เบื้องต้นมองว่าบริษัทร่วมทุน (JV AMC) กับ BAM จะเน้นการบริหารสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน (secured loan) ซึ่ง BAM มีความเชี่ยวชาญในการบริหารหนี้กลุ่มนี้ ต่างจาก JK AMC (บริษัทร่วมทุน KBANK และ JMT) ที่เน้นการบริหารสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน(unsecured loan)

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อย จากการสอบถามจากทางบริษัทระบุว่าวงเงินลงทุนของ JV ใหม่ร่วมกับ KBANK นี้จะใช้เงินลงทุนที่สูงกว่า ARI-AMC ที่ทำร่วมกับธนาคารออมสิน (GSB) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการบริหารหนี้เสียแบบมีหลักประกัน
เป็นหลัก ขณะที่หนี้เสียที่มีหลักประกัน KBANK จะเน้นขายให้กับ JKAMC เป็นหลัก เนื่องจาก JMT มีความชำนาญในการบริหารจัดการหนี้เสียแบบไม่มีหลักประกันมากกว่า

เบื้องต้น BAM คาดจะใช้เงินลงทุนราว 1,000-1,500 ล้านบาท (อยู่ระหว่างเจรจากับธนาคาร) คาดจะเริ่มโอนหนี้เสียเข้ามาบริหารชุดแรกภายในไตรมาสที่ 4 นี้

ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา KBANK มีประมาณ NPL รวมอยู่ที่ 90,569 ลบ. ในปี 2565-66 มีการขายหนี้เสียค่อนข้างมาก ปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงที่เร่งปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ตามนโยบาย Balance Sheet Cleanup (เร่งปรับชั้นลูกหนี้ลง และตั้งสำรองเชิงระมัดระวัง) อย่างไรก็ดีในครึ่งปีแรก KBANK มีการขายหนี้เสียลดลงเหลือเพียง 1.4 หมื่นลบ. จึงมองว่าการขายหนี้ให้กับ
JVAMC กับ BAM จะมีขนาดเล็กกว่า JKAMC (เงินลงทุนราว 5,000 ล้านบาท) และมีไว้เป็นกลไกสำรองสำหรับบริหารจัดการหนี้เสียแบบมีหลักประกันในอนาคต เพราะหนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง KBANK ได้ขายให้กับ JKAMC ไปมากแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ส่วนข้อดีต่องบการเงินของ BAM คาดยังค่อนข้างจำกัดในช่วงแรก ที่เริ่มมีการรับโอนหนี้เสียจำนวนไม่มาก อาจจะได้รับเงินในรูปแบบค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ (คาด BAM จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะเป็นธุรกิจที่ BAM ดำเนินอยู่แล้ว) คล้ายกับสัญญาที่ทำกับธนาคารออมสินขณะที่ส่วนแบ่งกำไร (รับรู้กำไรแบบ Equity Method) ของ JVAMC และ Success Fee คาดจะเริ่มขึ้นในช่วงปีที่ 3 (ปี 2570) ที่เริ่มดำเนินการ เพราะหนี้เสียแบบมีหลักประกันจะใช้เวลาในการติดตามและบังคับใช้กฎหมายที่นานกว่าหนี้แบบไม่มีหลักประกัน แต่ข้อดีคือ BAM จะมีแหล่ง Suppy หนี้เสียให้อย่างต่อเนื่องผ่านทาง JVAMC ทั้งกับ GSB และ KBANK รวมถึงต้นทุนทางการเงินในอัตราที่ต่ำกว่าตลาดจากพันธมิตรทั้ง 2 ราย อีกทั้งเป็นการลดภาระทางการเงินของ BAM ในการขยายธุรกิจ นอกจากนี้การรับรู้รายได้เป็นค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการยังเป็นการช่วยลดความผันผวนของรายได้ BAM ในอนาคต

“มีโอกาสที่จะปรับประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายของ BAM ขึ้น เนื่องจากแนวโน้มผลจัดเก็บในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้นได้ดีและในช่วงปลายปีคาดจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมจาก JV เข้ามาช่วยเสริม โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 9% จากมูลค่าพื้นฐานเดิมปี 2567 ที่ 9.70 บาท และ
คาดให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลอีก 5% จึงคงคำแนะนำซื้อ” บล.หยวนต้าระบุ