เจ้าหนี้สินมั่นคงยื่นรับชำระหนี้ 9 เดือน 9 นี้ กปว.รับไร้เงินจ่าย-กู้แบงก์ไม่ได้รัฐไม่ค้ำ

HoonSmart.com>>กองทุนประกันวินาศภัย นับหนึ่งเปิดเจ้าหนี้ สินมั่นคง 8 แสน – 1 ล้านรายยื่นรับชำระหนี้ภายใน 60 วัน ขอเวลา 2 ปีตรวจความถูกต้อง รับคุมทรัพย์มาได้แค่ 5 พันล้านบาท จากหนี้ทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท ยังค้างเจ้าหนี้เก่าอีกกว่า 4 หมื่นล.เหตุไร้เงิน กู้ไม่ได้ไร้รัฐค้ำแบงก์ไม่ปล่อยเงินให้ ด้านสภาทนายความแนะรัฐบาลช่วยเหลือด่วนก่อนปัญหาบานปลาย

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 ก.ย.2567 เวลา 8.30 น. -7 พ.ย.2567 เวลา 16.30 น.รวมเวลา 60 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ https://rps-sev.gif.or.th และ http://www.gif.or.th จะเปิดให้เจ้าหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัยที่คาดว่าจะมีประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านราย ทำการลงทะเบียน และกรอกแบบฟอร์มยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านเว็ปไซต์ของกปว.เท่านั้น พร้อมกับดาวน์โหลดเอกสารหลักฐานมาด้วย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และนำส่งเอกสารการเป็นเจ้าหนี้ตัวจริงส่งทางไปรษณีย์มาที่กปว. รวมเป็นเวลา 60 วัน ซึ่งเจ้าหนี้ทุกคนจะต้องลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด ที่เคยยื่นมาก่อนหน้านี้ไม่นับ หากไม่ยื่นภายในวันเวลาดังกล่าว ถือว่าสละสิทธิ์

ทั้งนี้ เจ้าหนี้สินมั่นคงประกันภัย มีทั้งหมดประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านราย เป็นมูลหนี้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ทางกปว.สามารถคุมทรัพย์มาได้ทั้งหมดราว 5,000 ล้านบาท เป็นเงินสด 1,400 ล้านบาท เงินสดที่วางประกันไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 600 ล้านบาท จะเป็นเงินสด 2,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นรถ 250 คัน และอสังหาริมทรัพย์ 17 รายการ

เมื่อรวมกับเจ้าหนี้ของสินมั่นคงประกันภับ กับอีก 4 บริษัทที่ กปว.ดูแลอยู่ จะเป็น 1.2 ล้านราย เป็นมูลหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนี้เดิมของ 4 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทเอเชีย อินชัวรันส์ บริษัทเดอะ วัน อินชัวรันส์ บริษัทไทยประกันภัย และ บริษัทอาคเนย์ ประกันภัย ทางกปว.มีการตรวจสอบและรับรองหนี้แล้วจ่ายหนี้เป็นระยะๆ

หลังจากที่เจ้าหนี้สินมั่นคงประกันภัย ยื่นมาครบแล้ว ทางกปว.มองว่าบริษัทที่ถูกปิดเนื่องจากโควิด-19 เป็นเหตุ น่าจะหมดแล้ว จึงจะใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้องประมาณ 2 ปี จะได้แยกหนี้ที่เกิดจากประกันภัยโควิด และหนี้จากประกันภัยประเภทอื่นๆ ของทั้ง 5 บริษัท เพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการชำระคืนหนี้ได้ โดยใครยื่นก่อนก็จะได้ก่อนตามลำดับ

เดิม กปว.มีเงินอยู่ 6,000 ล้านบาท มีการนำมาจ่ายให้เจ้าหนี้ 7 บริษัทสัมพันธ์ประกันภัย บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์แนชั่นแนล อินชัวรันส์ บริษัทเจ้าพระยาประกันภัย บริษัทเอเชียประกันภัย บริษัทเดอะ วัน อินชัวรันส์ บริษัทไทยประกันภัย และ บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จนเงินหมดแล้วเมื่อสิ้นปี 2566 แต่หนี้ยังไม่หมด ล่าสุด ณ วันที่ 27 ส.ค.2567 กปว.ได้ทำการรับรองมูลหนี้และอนุมัติจ่ายทั้งเงินแก่เจ้าหนี้ ของ 7 บริษัทประกัน รวม 8,705.97 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้จ่าย เพราะไม่มีเงินจ่าย ก็ค้างไว้ก่อน

เนื่องจาก กปว.มีรายได้มาจากช่องทางเดียวคือ เงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัย ในอัตรา 0.5% ของเบี้ยประกันภัยในแต่ละปี ก็จะได้ประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี ได้มาก็จ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ประกันภัยทั้งหมด ยังไม่มีช่องทางอื่น แม้ว่าทางคณะรัฐมนตรีจะเคยอนุมัติให้ กปว.กู้เงินได้ แต่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ทำให้ไม่มีธนาคารใดปล่อยกู้ ซึ่งขณะนี้อยู่รหว่างการหาที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาทางเลือกในการหารายได้จากช่องทางอื่นๆ เพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับประชาชน”นายชนะพล กล่าว

ด้านตัวแทนจาก คปภ.กล่าวว่า หากประชาชนไม่ทราบวิธีการลงทะเบียน และยื่นรับคำขอรับชำระหนี้ สามารถไปที่สนง.คปภ.ที่อยู่ใกล้เคียงได้ทั่วประเทศ จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับเจ้าหนี้ได้แก่ เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย เช่น ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือบุคคลภายนอกที่มีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย รวมถึงทายาท ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือรับช่วงสิทธิมาจากบุคคลดังกล่าว และเจ้าหนี้อื่นทั่วไป เช่น หนี้ตามสัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงาน

สภาทนายความร้องรัฐจัดงบช่วย

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้บริษัทประกันภัยประมาณ 4 แสนราย และทางสภาทนายความ ตัวแทนเจ้าหนี้ และ กปว.ก็มีการประชุมหารือกัน ซึ่งทางกปว.ก็รับทุกปัญหาเพื่อนำไปสู่การชำระหนี้ แต่ปัญหาคือ กปว.ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ประกันทั้งหมด ซึ่งถือเป็นหนี้สาธารณะก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งของประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19

“ก็นำมาสู่ทางเลือกที่ว่า มีเจ้าหนี้รายไหนที่จะให้ส่วนลดหนี้กับทางรัฐบาลบ้าง เพราะหนี้บริษัทประกันภัยที่ถูกปิดกิจการ ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ มีรัฐบาลรับผิดชอบจากการที่ไปรับประกันบริษัทประกันภัย และคุ้มครองเจ้าหนี้สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท ก็พบว่ามีบางกลุ่มยอมลดหนี้ให้ 30% บางกลุ่มก็บอกว่า 50% รับได้ แต่ขอให้จ่ายหนี้เร็วหน่อยภายใน 2-3 เดือน แต่บางส่วนบอกว่าขอ 100%”ดร.วิเชียร กล่าว

ดร.วิเชียร กล่าวว่า หากเจ้าหนี้บริษัทสินมั่นคงต้องการที่จะยื่นฟ้องลูกหนี้ ซึ่งปัจจุบันคือ กปว.กับรัฐบาล ก็สามารถทำได้ และขอแนะนำให้รวมกลุ่มกันมา รวบรวมเอกสารสัญญาการทำประกันภัย การเป็นเจ้าหนี้ เพื่อทำการฟ้องเป็นกลุ่มและการดำเนินคดีจะได้รวดเร็ว โดยทางสภาทนายความจะเป็นคนเจรจาระหว่างลูกหนี้คือ กปว.กับ รัฐบาล และเจ้าหนีให้

ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลควรจะลงมาดูแลแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงใจและจริงจัง ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้กว่า 1 ล้านคน ให้ได้รับสิทธิรับสินไหมทดแทนจากประกันภัยที่เป็นสิทธิตามกฎหมาย โดยเฉพาะประกันภัยโควิด-19 หากแก้ไขปัญหาล่าช้าอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญ ยิ่งช้าเท่าไหร่ ปัญหาความเชื่อมั่นเชื่อถือในระบบประกันวินาศภัยจะลดลงไปเรื่อยๆ

“ในกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่ปัจจุบันทางกปว.ได้ทรัพย์มาแล้วมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท แล้วกปว.กู้มา 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีรัฐบาลค้ำประกันให้ รัฐบาลจัดสรรงบมาให้อีกในส่วนที่เหลือ แล้วทำการเจรจาเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้กับประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ เชื่อว่าถ้าประชาชนได้เงินเร็ว มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน จะยอมลดหนี้หรือแฮร์คัทบางส่วน”ดร.วิเชียร กล่าว

ดร.วิเชียร กล่าวว่า ในฐานะสภาทนายความ ที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหนี้ให้ดำเนินการฟ้องร้อง อยากให้การใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นโอกาสสุดท้าย เพราะมองว่าทุกสิ่งในโลกนี้สามารถจบได้ด้วยการเจรจา