ดาวโจนส์ปิดบวก 38 จุด ตลาดแรงงานชะลอ หวังเฟดลดดอกเบี้ย

HoonSmart.com>>ดาวโจนส์ปิดบวก 38 จุด สวนดัชนี S&P 500 และ ดัชนี Nasdaq ปิดลบท่ามกลางการซื้อขายผันผวน หลังรายงานข้อมูลสะท้อนตลาดแรงงานยังชะลอตัว กดบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง นักลงทุนมีความหวังมากขึ้นเฟดลดดอกเบี้ย ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ” ร่วงต่อ WTI ต่ำกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดร่วง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 4 กันยายน 2567 ปิดที่ 40,974.97 จุด เพิ่มขึ้น 38.04 จุด หรือ +0.09% ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ ดัชนี Nasdaq ปิดลบท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน หลังการรายงานข้อมูลที่แสดงว่า ตลาด แรงงานยังชะลอตัว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และนักลงทุนมีความหวังมากขึ้นว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอย่างมากในปี 2024

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,520.07 จุด ลดลง 8.86 จุด, -0.16%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,084.30 จุด ลดลง 52.00 จุด, -0.30%

ตลาดปรับตัวลงจากการรายงานข้อมูลว่าตำแหน่งงานว่างเดือนกรกฎาคมในสหรัฐฯ ลดลงเกินคาด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการจ้างงานอาจลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยกระทรวงแรงงานรายงานผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS)ว่ามีตำแหน่งงานว่าง 7.7 ล้านตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ลดลงจาก 7.9 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน และน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ตำแหน่งงานที่เปิดรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จากเกือบ 8.8 ล้านตำแหน่งในเดือนมกราคม แต่โดยรวมแล้ว ข้อมูลในรายงานก็มีผสมกัน โดยการจ้างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว

หลังการเผยแพร่ข้อมูล อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในภาวะ inverted หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งบ่งชี้สัญญานภาวะเศรษฐกิจถดถอยและทำให้นักลงทุนกังวลนั้น กลับมาอยู่ในภาวะปกติ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี กลับมาอยู่ในระดับที่เท่ากันและขึ้นไปสูงกว่าเล็กน้อยในช่วงสั้น

นอกจากนี้เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่าตลาดให้น้ำหนักมากขึ้นไปที่เกือบ 50% ที่ เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นจาก 38% ในวันก่อนหน้า

ตลาดงานที่อ่อนแอลงอาจทำให้เกิดความกังวลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจะชะลอตัวในอนาคต แต่ก็อาจหมายถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงด้วย

แต่คาร์ล ไวน์เบิร์ก และรูบีลา ฟารูกี นักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตำแหน่งงานว่างลดลง การจ้างงานเพิ่มขึ้นและการลาออกยังคงทรงตัว
ไม่มีสัญญาณว่าตลาดแรงงานล่มสลายอย่างกะทันหันหรือภาวะถดถอยที่ใกล้จะเกิดขึ้น

เฟด สาขาแอตแลนตา รายงาน แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 2.1% ในไตรมาส 3 ปีนี้ ในไตรมาส 1 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% และเติบโต 3.0% ในไตรมาส 2

นอกจากนี้ Beige Book หรือรายงานภาวะเศรษฐกิจของเฟดที่จะเผยแพร่ทุกๆ 7 สัปดาห์ ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วประเทศ ขณะที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เล็กน้อย และนายจ้างเริ่มไม่เต็มใจที่จะจ้างและเลือกคนที่จะจ้างมากขึ้นสำหรับตำแหน่งงาน

เขตส่วนใหญ่ของ 12 เขตของเฟด มีกิจกรรมทรงตัวหรือลดลง การจ้างงานพนักงานโดยรวมทรงตัว แม้ว่ารายงานแบบแยกส่วนของบริษัทที่จ่างเพิ่มเฉพาะตำแหน่งงานว่างที่จำเป็น ในขณะเดียวกันก็ลดชั่วโมงการทำงาน ลดกะ และระดับการจ้างงานโดยรวมลง

ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนลี กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอื่นๆ โดยหุ้น Nvidia ลดลง 1.7% หลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ส่งหมายเรียกให้เข้าชี้แจงว่า บริษัทได้กระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดหรือไม่

หุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อื่น ลดลงเช่นกัน โดยหุ้น Apple ลดลง 0.9% หุ้นMicrosoftลดลง 0.1% หุ้น Alphabet ลดลง 0.5% และหุ้น Amazon ลดลง 1.7% แต่หุ้นผู้ลิตชิปใหญ่รายอื่นยังปรับขึ้น โดยหุ้น AMD บวกราว 3% หุ้นTesla เพิ่มขึ้น 4% และหุ้น Meta Platforms หุ้น Marvell Technology หุ้นBroadcom และหุ้นQualcomm ต่างปรับขึ้น

ในกลุ่มพลังงานหุ้น Exxon Mobil ลดลง 1.2% จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลงมาที่ระดับต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนในกลุ่มเฮลธ์แคร์ หุ้น Eli Lilly and Co ลดลง 1.1%

หุ้น U.S. Steel ร่วงลง 18% หลังมีรายงานของ Washington Post ว่า ทำเนียบขาวพร้อมที่จะขวางข้อตกลงเทคโอเวอร์ของ Nippon Steel ทั้งนี้ผู้ถือหุ้น U.S. Steel อนุมัติการซื้อกิจการมูลค่า 14.9 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจอื่นที่มีการรายงานเมื่อวานนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงาน คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่า 4.7% ที่นักวิเคราะห์คาด เมื่อเทียบรายปี คำสั่งซื้อภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 0.4% ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน ลดลง 0.1%

นอกจาหนี้ สหรัฐขาดดุลการค้าของเพิ่มขึ้นเป็น 78.8 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2022 สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.1% มาที่ 345.4 พันล้านดอลลาร์ การส่งออกเพิ่มขึ้น 0.5% สู่ระดับ 266.6 พันล้านดอลลาร์

ตลาดยุโรปปิดลบ ดัชนีหลักพากันร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยหุ้นเทคโนโลยีร่วงลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว และความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนที่เขย่าตลาดโลก

ดัชนี STOXX 600 ร่วงลง 1% โดยตลาดหลักในภูมิภาคทั้งหมดลดลงระหว่าง 0.5% ถึง 1% ดัชนีวัดความผันผวน ((STOXX volatility index) เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม

หุ้นเทคโนโลยีนำการลดลง โดยร่วงลงกว่า 3% สู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งเดือน ตามการขายหุ้นเทคโนโลยีในตลาดหุ้นสหรัฐ หลังการรายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้ บั่นทอนความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ กิจกรรมการผลิตของจีนที่ทรุดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนในเดือนสิงหาคม ส่งผลต่อหุ้นสินค้าหรูในยุโรป เช่น LVMH Holdings, Richemont และ Christian Dior ซึ่งลดลงระหว่าง 3% ถึง 5.8%

ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นสองเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก กดดันตลาดยุโรปในช่วงเดือนที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปก็มีปัญหาเศรษฐกิจของตนเองเช่นกัน

ข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจของยูโรโซนแตกต่างกันไป โดยภาคบริการของฝรั่งเศสได้รับแรงหนุนในเดือนสิงกาคมจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกม ขณะที่การขยายตัวของภาคบริการในเยอรมนีชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้เพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปนั้นกำลังอ่อนแอลง

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) อยู่ที่ 51.0 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการขั้นต้นที่ 51.2 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 2.1% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่า 2.5% ที่คาดไว้ในผลสำรวจของรอยเตอร์

นักลงทุนจับตาการรายงานข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญานเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

หุ้น ASML Holding บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ลดลงเกือบ 6% ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นที่ปรับตัวลงมากที่สุดในดัชนี STOXX 600 หลัง UBS ปรับลดคำแนะนำการลงทุน

หุ้น Volvo Cars ลดลง 5.9% หลังจากยกเลิกเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปผลิตรถไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2030

หุ้น Commerzbank ลดลง 2.7% หลังจากรัฐบาลเยอรมนีประกาศเมื่อวันอังคารว่า มีความตั้งใจที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคาร

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 514.82 จุด ลดลง 5.02 จุด, -0.97%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ ที่ 8,269.60 จุด ลดลง 28.86 จุด, -0.35%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,500.97 จุด ลดลง 74.13 จุด, -0.98%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,591.85 จุด ลดลง 155.26 จุด, -0.83%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนตุลาคมลดลง 1.14 ดอลลาร์ หรือ 1.62% ปิดที่ 69.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนตุลาคมลดลง 1.05 ดอลลาร์ หรือ 1.42% ปิดที่ 72.70ดอลลาร์ต่อบาร์เรล