KBANK เปิดตัว KIV ให้กู้รายย่อย เรือธงส่งกำไร 4.5-5 พันลบ.ปี69

HoonSmart.com>>ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดตัวเรือธงลำใหม่  “กสิกร อินเวสเจอร์” (KIV) โฮลดิ้งลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร 14 บริษัท รองรับตลาดสินเชื่อรายย่อยเติบโตอีกมาก สร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่าใช้เทคโนโลยีช่วยหาลูกค้าชั้นดี  ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ทดลองเปิดบริการปี 65 ใส่เงินลงทุน 2.15 หมื่นล้านบาท กำไรเพียง 81 ล้านบาท คาดปีนี้กำไร 900-1,100 ล้านบาท ปี’69 กำไร 4.5-5 พันล้านบาท 

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์  (KIV) เป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customers Life and Business) สร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท และมีบริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของ KIV 14 บริษัท เช่น บริษัท กสิกร ไลน์ , บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค , บริษัท เงินให้ใจ , บริษัท คาร์ฮีโร่   และบริษัท บัซซี่บีส์  เป็นต้น

ธนาคารได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการของ KVI โดยมีคุณพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman  และแยก KVIออกมา เพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ภายใต้การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  มั่นใจว่า การปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสร้างรายได้ใหม่ให้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

“การจัดตั้ง KIV เป็นเรือธงที่ 1 ที่จะสร้างรายได้ให้กับธนาคาร โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาเรียนรู้ระบบหลายๆอย่าง เพื่อให้ทุกคนต้องชนะไปด้วยกัน ทั้งแบงก์ ลูกค้า และพันธมิตร ส่วนเรื่อง NPLs มีการปรับเปลี่ยนการดูแลและแก้ปัญหามาตั้งแต่เกิดโควิด แต่ตราบใดที่มีกำไรก็ปล่อยได้”น.ส.ขัตติยากล่าว

ส่วนการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank หรือ ธนาคารเสมือนจริงนั้น อยู่ระหว่างการศึกษา และดูเงื่อนไขที่แบงก์ชาติจะประกาศออกมา หากสามารถรับฝากเงิน แต่อาจจะต้องแลกกับสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบมากขึ้น ก็ต้องพิจารณา อย่างไรก็ตามปัจจุบัน KIV ก็ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว ได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร ทั้งในส่วนลูกค้า และเงินทุนต้นทุนต่ำ เชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี

นายพัชร สมะลาภา Group Chairman ของ KIV  กล่าวว่า  KIV เริ่มทดลองทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2565 ด้วยมูลค่าเงินลงทุนจากแบงก์จำนวน 21,500 ล้านบาท มียอดปล่อยสินเชื่อจำนวน 37,000 ล้านบาท มีกำไรเพียง 81 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 ตั้งเป้าว่ามูลค่าเงินลงทุนเพิ่มเป็น 2.5-3 หมื่นล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 4-4.5 หมื่นล้านบาท กำไรเพิ่มเป็น 900-1,100 ล้านบาท และในปี 2569 มูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 6.5-7 หมื่นล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 7.5-8 หมื่นล้านบาท กำไรอยู่ที่ 4.5-5 พันล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของ KIV มีทั้งสิ้น 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายหลัก คือ การเพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งตลาดยังมีความต้องการใช้เงินอีกมาก ขณะที่มีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) การดำเนินงานของบริษัทอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น จำนวนลูกค้ากว่า 20 ล้านราย K PLUS เงินทุน ข้อมูล ไอที และสาขา เป็นต้น  ทำให้บริษัทมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็ก กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้น

” ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2566 ธุรกิจนอนแบงก์มีสินเชื่อคงค้าง 1.85 ล้านล้านบาท โดยบริษัท 10 อันดับแรก มีอัตรากำไรสุทธิลดลงจากปี 2564-ไตรมาสแรกปี2566 อยู่ที่ 30% ,28% และ 24% ”