SCB ผู้นำสินเชื่อสีเขียว-Net Zero 3 ปีอัดฉีดลูกค้าโตยั่งยืน1.5 แสนลบ.

HoonSmart.com>>ธนาคารไทยพาณิชย์มองเห็นโอกาสโต บนความท้าทายใหม่ๆ เดินหน้าภารกิจ “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” ผสานพลังคน-เทคโนโลยี-นวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนทุกระดับ สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านด้วยสินเชื่อ 150,000 ล้านบาท ภายในปี 2025 ปล่อยแล้ว 110,000 ล้านบาท องค์กรปรับการดำเนินงานสู่ Net Zero ภายในปี 2030  เป็นธนาคารไทยแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อ-การลงทุนตามมาตรฐานระดับโลก เปลี่ยนพอร์ต 2.3 ล้านล้านบาทสู่สินเชื่อสีเขียว

 

 

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ แถลงเรื่อง “SCB Sustainability ทิศทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน” ว่า ธนาคารฯมองเห็นโอกาสจากธุรกิจในปัจจุบันกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยความท้าทายใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตช้า เปราะบางไม่แน่นอน  การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล และสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เป็นผลต่อเนื่องมาถึงการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการปรับนโยบายและกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การที่ภาคธุรกิจทั้งระบบกำลังปรับตัวไปพร้อมๆ กัน ก็เป็นโอกาสที่จะสร้างการขยายตัวให้เศรษฐกิจครั้งใหม่ได้อย่างมหาศาล ด้วยกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของธนาคาร ซึ่งครอบคลุมถึงมิติด้านความยั่งยืนที่มีการดำเนินงานอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมาตลอด 3 ปี โดยมุ่งมั่นเป็นธนาคารชั้นนำแห่งความยั่งยืน อยู่บนแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” (LIVE SUSTAINABLY) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติที่จะนำการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกคน เพื่อสร้างอนาคตให้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

“ความยั่งยืนของธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มมาแล้ว 117  ปี อยู่คู่กับเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อสร้างการเติบโตและแบ่งปัน สร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้น ปัจจุบันโลกมุ่งสู่ความยั่งยืน สร้างโอกาสมากมายบนความท้าทายต่างๆ   คาดว่ามีเม็ดเงิน 39 ล้านล้านเหรียญ ที่โลกจะลงทุนสู่ Net Zero  จะเกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมจะเกิด 27 ล้านตำแหน่งงานใหม่ทั่วโลกในปี 2030 ในส่วนของไทยการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นประมาณ 5 ล้านล้านบาท เท่ากับการลงทุนใน Carbon Neutrality “

 

 

ธนาคารมีบทบาทสนับสนุนความยั่งยืน จากการผสานพลังคนและเทคโนโลยี ด้วยการจัดสรรเงินทุนให้แก่ลูกค้า กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ โดยวางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะสำคัญ ได้แก่ 1.สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2025 ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2023 จนถึงสิ้นไตรมาส 2/2024 ได้สนับสนุนสินเชื่อไปแล้ว กว่า 1.11 แสนล้านบาท คาดว่าสามารถบรรลุเป้าหมาย 150,000 ล้านบาทได้แน่นอน

2.ปรับการดำเนินงานองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030 เช่นการเปลี่ยนแอร์ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี จำนวน 2,283  เครื่อง หรือการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา ปิดก่อนเลิกทำงาน สร้างวัฒนธรรมและเปลี่ยนค่านิยมของพนักงานทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นคน

3.เป็นธนาคารไทยแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science-Based Targets Initiative (SBTi) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ที่มากกว่า 8,800 องค์กรชั้นนำใช้กัน ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว

การตั้งเป้าหมาย Net Zero ตามกลุ่มลูกค้า ธนาคารเป็นผู้นำในการให้สินเชื่อที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CHG)  6.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการให้สินเชื่อในปี 2566 โดยกลุ่มไฟฟ้ามากที่สุด ตามด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ธนาคารฯเป็นผู้นำสินเชื่อ 1.34 แสนล้านบาท ขณะที่ 18% ของ GDP มาจากรายได้ท่องเที่ยวสำคัญต่อเศรษฐกิจของประทศ

สำหรับธุรกิจไฟฟ้า SCB เป็นผู้นำสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดผ่านกลยุทธ์ เพิ่มวงเงินสินเชื่อพลังงานหมุนเวียน 1.98 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 2011- ปัจจุบัน ทั้งลูกค้าปัจจุบันและรายใหม่  เพิ่มโอกาสขยายฐานสินเชื่อในต่างประเทศ ไม่สนับสนุนสินเชื่อใหม่แก่ธุรกิจพลังงานถ่านหินที่กำลังขยายกำลังการผลิต

ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างธุรกิจไฟฟ้าทั้งหมด 129,000 ล้านบาทในปี 2023 ราว 1 ใน 5 ของยอดสินเชื่อธุรกิจโรงไฟฟ้าในไทย  แบ่งเป็นสินเชื่อพลังงานหมุนเวียนคงค้างจำนวน 79,000 ล้านบาท และเป็นอันดับหนึ่งของประเทศสำหรับยอดสินเชื่อธุรกิจพลังงามลม นอกจากนี้ SCB ยังมีสัดส่วนสินเชื่อพลังงานหมุนเวียน 61% ต่อสินเชื่อโรงไฟฟ้า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ธนาคารชั้นนำของโลกที่ 53% ทำให้การปล่อยก๊าซ CHG จากพอร์ตสินเชื่อกลุ่มโรงไฟฟ้าลดต่ำกว่าเส้นทางการบรรลุเป้าหมาย Net Zero

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การผลักดันเป้าหมาย Net Zero สำหรับพอร์ตสินเชื่อและการลงทุน (Scope 3 Category 15 Investment) ภายในปี 2050 ตามมาตรฐาน SBTi (Science Based Targets Initiative) ถือเป็นมาตรฐานแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด จากกรอบการดำเนินงานที่อยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ โปร่งใส และตรวจสอบได้

ธนาคารไทยพาณิชย์ภายใต้ทิศทางนโยบายของ SCBX จึงเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของไทยที่ประกาศเจตจำนงสู่เป้าหมาย Net Zero ตามกรอบ SBTi ตอกย้ำวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและสร้างความพร้อมให้กับเศรษฐกิจไทยต่อความท้าทายและโอกาสของสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศและประชาคมโลกจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีรุนแรงยิ่งขึ้น

2. การบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ผ่านการสนับสนุนลูกค้าเพื่อให้สามารถปรับตัวก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สามารถแข่งขันได้ภายใต้กฎระเบียบใหม่ทางการค้าการลงทุนของโลก และ 3. โอกาสทางธุรกิจ จากความต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากอุตสาหกรรมต่างๆของไทยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่เปลี่ยนไป

ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็น True partner ให้กับลูกค้าตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการสนับสนุนด้านการเงินที่ยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ (Sustainable Finance) ที่ครบถ้วนในทุกกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรม  เช่น ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) ตลอดจนการให้ความรู้และคำแนะนำการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความพร้อมและความต้องการของลูกค้าผ่านการจับมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในมิติต่างๆ ในการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อสนับสนุนการลงมือปฏิบัติได้จริง และนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

จากผลสำรวจล่าสุดในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่จำนวน 218 ราย ที่คิดเป็น  84% ของสินเชื่อในกลุ่ม ITR ทั้งหมด (ยอดสินเชื่อทั้งหมด 4.99 แสนล้านบาท) พบว่า ระดับการตั้งเป้าหมายของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มีความหลากหลาย โดยลูกค้าจำนวน 77 ราย ซึ่งมีสินเชื่อรวมคิดเป็น 47% ของยอดสินเชื่อในกลุ่มสำรวจทั้งหมดมีการกำหนดและประกาศเป้าหมายที่ครบถ้วน อย่างไรก็ดี ยังมีลูกค้าจำนวน 100 ราย ซึ่งมีสินเชื่อรวมคิดเป็น 35% ของยอดสินเชื่อในกลุ่มสำรวจทั้งหมด ยังไม่มีการเก็บข้อมูล GHG และไม่มีการตั้งเป้าหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์ของธนาคารในการ engage กับลูกค้าเพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของลูกค้าแต่ละราย ควบคู่กับการสนับสนุนด้านสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับลูกค้าที่มีการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ระดับอุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอของลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงต่อเนื่อง โดยปรับลงแล้วกว่า 0.19 องศาเซลเซียส จาก 2.84 องศาเซลเซียส จากปีฐาน 2021 มาอยู่ที่ 2.65 องศาเซลเซียส ในปี 2023 โดยธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้ระดับอุณหภูมิของพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040 ซึ่งจะช่วยให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุ Net Zero ได้ในปี 2050