กอช.เปิดคนอายุเกิน 60 ซื้อหวยเกษียณได้ ย้ำสินค้าออมเงินคนรากหญ้า

HoonSmart.com>>กอช.เปิดคนอายุเกิน 60 ปีซื้อหวยเกษียณได้ ยันเป็นผลิตภัณฑ์การออมเงินรากหญ้าของแท้ที่ยังไม่มีใครทำ จูงใจแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน ตั้งแต่ 15 ปีสร้างระบบบำนาญให้ตัวเอง ลุ้นรับรางวัลสูงสุด 1 ล้านบาท คาดเร็วสุดขายได้ไตรมาส 1 ปี’68

น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)เปิดเผยว่า จากการทำประชาพิจารณ์ โครงการ สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือ หวยเกษียณ ทางสมาชิกกอช.ต้องการให้คนอายุเกิน 60 ปีซื้อได้ด้วย จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ อายุ 15 – 60 ปี จึงจะทำการแก้กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อเปิดให้คนอายุเกิน 60-70 ปี ซื้อได้ แต่ต้องถือเงินออมอย่างน้อย 60 ปี จึงจะสามารถถอนได้ แต่รางวัลที่ถูกหวยเกษียณสามารถถอนได้ทันที โดยจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป ถ้าทุกอย่างดำเนินการได้เลยคาดว่าอย่างเร็วสุดน่าจะเสนอขายได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 แต่ถ้ามีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากระทบก็อาจจะเลื่อนออกไป

“ทุกวันนี้ยังไม่เห็นผลิตภัณฑ์การออมเงินระดับรากหญ้าเลย หวยเกษียณถือเป็นโพรดักส์การออมเงินรากหญ้าอันเดียวในตลาดตอนนี้ ไม่ใช่การมัวเมา แต่จะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบที่มีอยู่ 20 ล้านคนสามารถสร้างบำนาญให้กับตัวเองได้ โดยสมาชิกของกอช.ปัจจุบันมีเพียง 2.6 ล้านคน เชื่อว่าหวยเกษียณจะดึงคนเข้ามาออมเงินได้เพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคน เพราะคนที่จะซื้อหวยเกษียณได้ต้องเป็นสมาชิกของกอช.เท่านั้น”น.ส.จารุลักษณ์ กล่าว

น.ส.จารุลักษณ์ กล่าวว่า หลังจากมีการขายหวยเกษียณ เงินของ กอช.จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ก้อน 2 กองทุน คือ ก้อนที่มีการออมประจำ และ ก้อนที่มาจากหวยเกษียณ ซึ่งจะมีการแยกการบริหารเงินที่ชัดเจน ในส่วนของเงินจากหวยเกษียณ จะไม่มีการการันตีเงินต้นและผลตอบแทน เพราะขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์สินที่ไปลงทุน แม้จะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยหลักๆ ในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผู้ออมจะมีการไถ่ถอนเงินออม หรือ มาร์คทูมาร์เก็ต

“หวยเกษียณจะออกทุกวันศุกร์ ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน รวมรางวัลทั้งหมดมูลค่า 15 ล้านบาท รางวัลที่ 1 มี 5 รางวัล รางวัลละ 1 ล้านบาท และรางวัลที่ 2 มี 10,000 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท ซึ่งเรามีการคำนวณเงินที่เพียงพอสำหรับการเกษียณจะต้องมีขั้นต่ำ 4 ล้านบาท เงินรางวัลนี้น่าจะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาออมเพิ่มขึ้น และถ้าออมตั้งแต่อายุ 15 ปีโอกาสที่จะถึงเป้าหมายการมีเงินออม 4 ล้านบาทก็เป็นไปได้สูง”น.ส.จารุลักษณ์ กล่าว

3 องค์กรร่วมวางรากฐานการวางแผนการเงิน

นอกจากนี้ ในวันที่ 2 ก.ย.ทางกอช.ยังได้ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดินหน้าส่งเสริมความรู้การวางแผนการเงิน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 หวังยกระดับการเรียนรู้วิถีใหม่ในโลกยุคดิจิทัล ให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดี (Financial well-being) หวังส่งความรู้เข้าถึงคนไทยกว่า 2.5 ล้านคนต่อปี

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงินที่หลากหลาย เช่น ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และการที่สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) แต่คนไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาแก่ก่อนรวย มีเงินใช้ไม่เพียงพอในวัยเกษียณ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้เร่งส่งเสริมความรู้ทางการเงินซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นแผนกลยุทธ์สำคัญและสอดรับกับแนวคิด ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน ในโอกาสที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ปีที่ 50 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาองค์ความรู้การเงินการลงทุนและเครื่องมือในการเรียนรู้ SET e-Learning ให้ทันสมัย มีหลักสูตรหลากหลาย ตอบโจทย์การเรียนรู้วิถีใหม่ พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรในการนำความรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

“วิธีออมที่ได้ผลเร็วที่สุดคือ การลดรายจ่าย เพราะทันทีที่ลดรายได้จ่าย 1 บาท เงินออมจะเพิ่มทันที 1 บาท หลังจากนั้นก็มาออมผ่านเครื่องมืออื่นๆ โดยสินค้าการออมเงินมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ที่ปลอดภัยสูง ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น การฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ไปจนถึงการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่นผลิตภัณฑ์การลงทุน ซึ่งผู้ออมเงินจะต้องรู้จักข้อจำกัดของตัวเอง และเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง และเลือกให้เหมาะสม หากไม่เข้าใจก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้”นายศรพล กล่าว

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กยส.ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยการนำหลักสูตร SET e-Learning วางแผนการเงิน การลงทุน และการเป็นผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 71 หลักสูตร ให้นักเรียนนักศึกษาผู้กู้ยืมเข้าไปเรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และนำไปสะสมจำนวนชั่วโมงจิตสาธารณะตามหลักเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด และมียอดผู้เข้าเรียนสะสมกว่า 10 ล้านครั้ง ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผลเชิงประจักษ์จากจำนวนผู้เข้าเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะทุกปี

กองทุนคาดหวังให้ผู้กู้ยืมทุกคนได้มีความรู้ทางการเงิน เพื่อสามารถบริหารจัดการรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สินของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมและสร้างโอกาสให้แก่ตนเองในอนาคต ตลอดจนสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมให้กองทุนได้ตามกำหนด เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป ความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรในครั้งนี้จึงเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จเดิมด้วยการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินสำหรับเยาวชนไทยให้เข้มแข็ง อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

“หลักสูตร SET e-Learning ไม่เพียงแต่ผู้เรียนจะได้รับความรู้เท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้ผู้เรียนนำไปสร้างอาชีพใหม่ สร้างธุรกิจของตัวเองได้จำนวนมาก”นายชัยณรงค์ กล่าว

ด้าน น.ส.จารุลักษณ์ กล่าวว่า กอช.พุ่งเป้าให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินกับกลุ่มนักเรียนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างให้อนาคตของชาติมีความพร้อมมีความเข้าใจเรื่องการวางแผนทางการเงิน โดยช่วง 8 ปีที่ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความรู้แก่คนกลุ่มนี้ไปแล้วร่วม 3 แสนราย และยังร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทยในการให้ความรู้แก่ลูกจ้างชั่วคราว ในเร็วๆ นี้จะมีการจับมือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน อยู่ทั่วประเทศ 4 แสนคน ในการให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงิน