HoonSmart.com>>”ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” นำทีมคณะผู้บริหาร “บางจาก คอร์ปอเรชั่น” (BCP) แถลงความสำเร็จดำเนินงานครบรอบ 40 ปี และปีแรกของการได้”บางจาก ศรีราชา” ( BSRC) หรือเอสโซ่ เดินทางมาถูกทาง กวาดยอดขายครึ่งปีนี้ 3 แสนล้านบาท สิ้นปีแตะ 6 แสนล้านบาท ส่วน EBITDA 4.2 หมื่นล้านบาท ปี ุ68 จะโตยิ่งขึ้น โรงกลั่นไม่มีปิดซ่อม เป้าปี 73 จะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ยอดขายถึง 1 ล้านล้านบาท งบลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ซื้อกิจการด้วย เพิ่มความสามารถทำกำไร
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) พร้อมผู้บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก แถลงความสำเร็จการดำเนินงานในครึ่งปีแรก 2567 ซึ่งครบรอบการดำเนินงาน 40 ปี ของบริษัทฯ มียอดขาย 3 แสนล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะถึง 6 แสนล้านบาทได้ ดีขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท ส่วน EBITDA 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนปีหน้าจะเติบโต 20% คาดว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ส่วนยอดขายจะเพิ่มขึ้นสู่เป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรที่ยั่งยืน 100 ปีคู่สังคมไทย ทุกคนมุ่งเป้าหมายเดียวกัน
“1 ก.ย. 2567 เป็นวันที่ครบ 1 ปี ของการได้บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บางจาก ศรีราชา หรือ BSRC ซึ่งเดินมาถูกทาง เพราะยอดขายของบริษัทบางจากเพิ่มขึ้น 5% โดยเราตั้งเป้าจะเป็นโรงกลั่นชีวภาพ ผมเข้ามาร่วมงานในบางจาก 11 ปี ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนไปเยอะจากโรงกลั่นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นโรงกลั่นที่ดีที่สุดในโลก ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด มั่นใจว่ายอดขายสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท จะติดท็อปเทนในเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเรามีปั๊ม 2,200 แห่ง มาร์เก็ตแชร์ 28-29% ปี 2573 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2,400 แห่ง ส่วนแบ่งตลาด 33% มุ่งเน้นที่ตลาดที่มีความต้องการสูง ส่วนธุรกิจตลาดพาณิชยกรรมมุ่งขยายตลาดในภูมิภาค (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียตนาม) การรวมบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ เช่น ร้านกาแฟอินทนิลและสถานีชาร์จรถไฟฟ้า”นายชัยวัฒน์กล่าว
บางจากฯ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 และเป็นปีแห่งการสร้าง Synergy ปรับตัวและเติบโตด้วยความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทาย ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมวินัยทางการเงิน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาทในปี 2573 รักษาความเป็นผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทย ขณะที่ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น สร้างรากฐานมั่นคง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ส่วนการ Synergy กับบริษัท บางจาก ศรีราชา ทำได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ครึ่งปีนี้ได้ EBITDA 3,000 ล้านบาท คาดทั้งปี 5,000 ล้านบาท ส่วนปี 2568 บางโครงการที่ทำจะรับรู้เต็มปี ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5,500 ล้านบาท การเพิ่มค่าการกลั่นและลดค่าใช้จ่ายจะช่วยได้มาก การลดต้นทุนทุก 1 เหรียญต่อบาร์เรล หลังมีกำลังการผลิตรวม 2.8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ปีๆ หนึ่งจะได้เพิ่ม 3,500 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีการสร้างคลังน้ำมัน เพื่อสนับสนุนการขยายสถานีในภาคใต้ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการทกำไรให้ดียิ่งขึ้น
“บางจากเป็นบริษัทเติบโตสูง เป็นตัวเลข 2 หลัก แต่ไม่ใช่สองหลักน้อยๆ บางส่วนโต 20% บางส่วนโต 50% หรือ 100% ปีหน้า โรงกลั่นจะดีกว่าปีนี้ เนื่องจากไม่มีการปิดซ่อม 30 วัน การผลิต 1 ล้านลิตร/วัน ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ธุรกิจตลาดจะโต 20% ธุรกิจต้นน้ำ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโต 20-30%”นายชัยวัฒน์กล่าว
ส่วนการสร้าง Synergy ระหว่างโรงกลั่นระดับโลก 2 แห่งคือโรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา ทำได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ครึ่งปีนี้ได้ EBITDA 3,000 ล้านบาท คาดทั้งปี 5,000 ล้านบาท ส่วนปี 2568 บางโครงการที่ทำจะรับรู้เต็มปี ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5,500 ล้านบาท หากเพิ่มค่าการกลั่นและลดค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มค่าการกลั่น (GRM) การลดต้นทุนทุก 1 เหรียญต่อบาร์เรล ปีหนึ่งจะได้เพิ่ม 3,500 ล้านบาท ตั้งเป้าอัตราการกลั่นน้ำมัน 280,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2568 จาก nameplate capacity (กำลังการกลั่นติดตั้ง) รวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่มีมูลค่าสูง เช่น Unconverted Oil และขี้ผึ้ง
นอกจากนี้ ในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการบุกเบิกความเป็นผู้นำในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เพิ่มมาร์จิ้นสูง ด้วยกำลังการผลิต 7,000 บาร์เรลต่อวัน มีความพร้อมในการจัดวัตถุดิบสำหรับการผลิตจากเครือข่ายพันธมิตรและการรับซื้อน้ำมันผ่านโครงการทอดไม่ทิ้งทั่วประเทศ
สำหรับงบลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในปี (2568-2573) มาจากเงินกู้ยืมประมาณ 50% บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ประมาณ 0.8 เท่า เพื่อให้ EBITDA เข้าเป้า 1 แสนล้านบาทในปี 2573 โดยลงทุนในธุรกิจดั่งเดิม 50% ส่วนที่เหลือลงทุนในธุรกิจสีเขียว มีการซื้อกิจการด้วย ส่วนปีหน้าจะใช้เงินลงทุน 50,000 ล้านบาท ประมาณ 50% เป็นการซื้อกิจการ โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดที่แข็งแกร่ง การเพิ่มประสิทธิภาพและการกระจายธุรกิจเพื่อสร้างสมดุลให้กับพอร์ต
กลุ่มบางจากฯมีความมั่นคงทางการเงิน ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2567 มีเงินสดในมือ 4.5 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์ทั้งกลุ่ม 3.5 แสนล้านบาท หนี้สิน 1 แสนล้านบาทเศษ EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือน 5 หมื่นล้านบาท จึงมีความพร้อมในการขยายการลงทุนต่อไป และสามารถเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นไปจากปัจจุบันที่ A ช่วยให้สามารถมุ่งเน้นโอกาสในการเติบโตในขณะที่ยังคงรักษาผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่แข็งแกร่ง ส่วนเงินปันผลระหว่างกาลปีนี้จ่ายหุ้นละ 0.60 บาท มีนโยบายเงินปันผล 30% ของกำไร ที่ผ่านมาให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5-7% มีนโยบายดูแลผู้ถือหุันอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันสถานีบริการประมาณ 80% เปลี่ยนตราสัญลักษณ์เป็น “ใบไม้ใบใหม่” ที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าและสังคม รวมถึงส่งผลต่อปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเครื่องยืนยันถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าในแบรนด์บางจากและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการขยายให้ลูกค้าเลือกใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 บางจากฯ จะเริ่มผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญทั้งบริษัทฯ และประเทศไทย ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับบางจากฯ และสังคมโดยรวมในฐานะทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการบิน ด้วยความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทบางจากในการเป็นผู้นำในการพัฒนาเชื้อเพลิงยั่งยืน พร้อมทั้งดำเนินกลยุทธ์ตามแนวคิด Bangchak 100x
บางจากฯ ยึดมั่นในพันธกิจในการขับเคลื่อนการเติบโตโดยรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
นอกจากนี้กลุ่มบริษัทบางจากมีการขยายธุรกิจพลังงานสีเขียว ผ่านบริษัท บีซีพีจี (BCPG) ซึ่งยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2030 ตั้งเป้าได้รับการคัดเลือกเป็นหุ้นที่เข้าคำนวณดัชนี SET50 และเป็นหนึ่งในหุ้นยั่งยืนที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนี DJSIด้วยกลยุทธ์เน้นการขยายการลงทุนในพลังงานสีเขียวในประเทศที่มีธุรกิจอยู่แล้วและการทำ capital recycling เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น พร้อมกับการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินและผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม
ส่วนบริษัท บีบีจีไอ ผู้นำด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแบบครบวงจร กำลังมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์และขยายธุรกิจหลักไปสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูง ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิต CDMO (Contract Development and Manufacturing Organization) รายแรกในอาเซียนในปี 2568 โดยมีแผนที่จะผลิตมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อปีภายในปี 2571
สำหรับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานผ่านธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ด้วยการลงทุนใน OKEA ASA ในประเทศนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 2561 มีเป้าหมายการขยายกำลังการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2573 ตลอดจนมีแผนที่จะขยายธุรกิจ E&P ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก อาทิ เอเชียแปซิฟิก เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ E&P อย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายรวมที่ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2573
นายชัยวัฒน์กล่าวถึงแนวทางเพื่อการเติบโต มุ่งเน้นการขยายธุรกิจในระยะยาวผ่านการพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนและการใช้พลังงานใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว มุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยการสร้างอนาคตผ่านการลงทุนและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้วิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยและภูมิภาค รวมถึงขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการพัฒนาอย่างยั่งยืน