DOD ออเดอร์กลุ่มแพทย์-คลินิกความงาม-คอสเมติคส์ เสริมพอร์ตแกร่ง

HoonSmart.com >> DOD ออเดอร์เพียบ กลุ่มแพทย์–คลินิกเสริมความงาม-คอสเมติคส์   ส่งซิกมียอดผลิต 60 – 70 SKUs/เดือน  โกยรายได้รวมปี 67 แตะ 1,000 ล้านบาท

ต่อลาภ ไชยเชาวน์

นายต่อลาภ ไชยเชาวน์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค  (DOD)  เปิดเผยว่า คำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ผลิตผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร ครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง เฉลี่ยเดือนละ 60-70 SKUs แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์เดิมประมาณ 55-60 SKUs และผลิตภัณฑ์ใหม่ประมาณ 5-10 SKUs เป็นผลมาจากการขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ – เภสัช กลุ่มคอสเมติคส์ กลุ่มคลินิกเสริมความงาม ซึ่งกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในพอร์ตของ DOD

การที่บริษัทฯ ได้รับออเดอร์จากกลุ่มทางการแพทย์ เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพการเป็นผู้ผลิตที่มีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ของตนเองที่ค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาสารสกัดพืชสมุนไพรที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันที รวมถึงกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูง ภายใต้มาตรฐานการผลิตระดับเดียวกับการผลิตยาตามมาตรฐานสากล อีกทั้งมีเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สามารถผลิตได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ กัมมี่ ชงดื่ม เม็ด เจลลี่ แคปซูล ตอกเม็ด โพรไบโอติค ซองกรอกปาก เป็นต้น

ปัจจุบันพอร์ตลูกค้าประมาณ 80% เป็นกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กลุ่มแพทย์–เภสัช, กลุ่มคอสเมติคส์, กลุ่มคลินิกเสริมความงาม ส่วนอีก 20% เป็นกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลฯ ด้านความคิดและการตัดสินใจ และมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก

“ธุรกิจครึ่งปีหลัง DOD ยังคงมุ่งเน้นดำเนินการในธุรกิจหลัก (Core Business) ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ โดยล่าสุดได้มีการลงทุนซื้อเครื่องจักร 2 เครื่อง ได้แก่ 1.เครื่องจักรผลิตผลิตภัณฑ์รูปแบบกัมมี่ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัย และมีกำลังการผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1 ล้านชิ้นต่อเดือน เพื่อซัพพอร์ตลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องจักรจะเข้ามาในไตรมาส 4/2567 นี้ และจะเริ่มมีรายได้จากการผลิตกัมมี่เข้ามาในช่วงปลายปี 2567 ทันที สำหรับเครื่องจักรดังกล่าวมีกำลังผลิตสูง ผลิตได้เร็วขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตทำได้มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง”

สำหรับปีนี้คาดว่า รายได้จากฐานการผลิต (Production Base) ประมาณ 500-600 ล้านบาท และรายได้จากฐานการค้าปลีก (Retail Base) ประมาณ 400-500 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ออสเวลไลฟ์ จำกัด (AWL) ซึ่งดำเนินการจำหน่ายสินค้าภายใต้ แบรนด์ “Auswelllife” นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย จะมีรายได้ประมาณ 300-350 ล้านบาท และบริษัท เอ เมตาเวิร์ส จำกัด (AMV) จะมีรายได้ประมาณ 60-70 ล้านบาท รวมทั้ง 2 ฐานธุรกิจแล้ว ปีนี้มีรายได้รวมน่าจะประมาณ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ จากการปรับโครงสร้างกิจการ (Restructure Business) โดยการหยุดดำเนินงานบริษัทย่อย คือ บริษัท สยาม เฮอเบิล เทค จำกัด ที่มีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการขายทรัพย์สินของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท สยาม เฮอเบิล เทค จำกัด และบริษัท พีซ๊ซีเอ แล็บบอราเทอรี่ จำกัด ส่งผลให้กลุ่มบริษัทจะมีกระแสเงินสดรับเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว