HoonSmart.com>>”ตลาดหุ้นโตเกียว” เช้านี้ปรับตัวขึ้น ตามตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดบวกเมื่อวันศุกร์ แรงซื้อหุ้นกลุ่มส่งออกได้แรงหนุนเงินเยนอ่อนค่า ด้าน “ตลาดหุ้นเอเชีย” ร่วงเกือบทั้งภูมิภาค นักลงทุนประเมินดัชนี PMI ที่เปิดเผยในช่วงสุดสัปดาห์หดตัวเดือนที่ 4
ตลาดหุ้นโตเกียวเช้านี้ปรับตัวขึ้น ตามตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดบวกเมื่อวันศุกร์ และการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มส่งออกที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยน
ในกลุ่ม Prime Market กลุ่มที่นำการปรับขึ้น คือ กลุ่มอุปกรณ์ขนส่งและกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ
กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันจันทร์ การใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายน เพิ่มขึ้น 7.4% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการเพิ่มกำลังการผลิตท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การลงทุนโดยภาคส่วนที่ไม่ใช่การเงินทั้งหมดเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การสร้างโรงงานและการเพิ่มอุปกรณ์ มีมูลค่ารวม 11.92 ล้านล้านเยน (81.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และเป็นการเพิ่มขึ้นรายไตรมาสติดต่อกัน 13 ไตรมาส
ภาคส่วนสำคัญที่เพิ่มการใช้จ่ายด้านทุน ได้แก่ เครื่องจักรการสื่อสารข้อมูลและผู้ให้บริการ
กำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้น 13.2% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 35.77 ล้านล้านเยน โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายในต่างประเทศ และเงินเยนที่อ่อนค่า ซึ่งช่วยเพิ่มผลกำไรของผู้ส่งออกในต่างประเทศเมื่อส่งกลับประเทศ
ยอดขายเพิ่มขึ้น 3.5% เป็น 368.96 ล้านล้านเยน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายน
ผลการดำเนินงานดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการทบทวนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2024 ซึ่งขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส สำนักงานคณะรัฐมนตรีจะเผยแพร่การอัปเดตในวันที่ 9 กันยายน
ณ เวลา 10.14 น. ในประเทศไทย
ดัชนี Nikkei 225 อยู่ที่ 38,709.88 จุด เพิ่มขึ้น 62.13 จุด , +0.16%
ตลาดหุ้นเอเชียปรับลงแทบทั้งภูมิภาค นักลงทุนประเมินตัวเลขกิจกรรมทางธุรกิจของจีนที่เปิดเผยในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งสะท้อนว่าความพยายามของจีนในการสนับสนุนเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไม่มีทีท่าว่าจะได้ผล ขณะที่รอข้อมูลบางส่วนที่กำหนดเผยแพร่ในปลายสัปดาห์นี้
จีนรายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(Purchasing Managers’ Index:PMI )อย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม โดยPMI ภาคการผลิตลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 49.1 ซึ่งหดตัวเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับ 49.4 ที่เห็นในเดือนกรกฎาคม และยังต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 49.5 จากนักเศรษฐศาสตร์ที่สำรวจโดยรอยเตอร์ โดยดัชนี PMI หดตัวเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
ส่วน PMI นอกภาคการผลิตของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 จาก 50.2 ในเดือนกรกฎาคม
ขณะเดียวกัน PMI ภาคการผลิตจากการรายงานของ Caixin ในเดือนสิงหาคมแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตของประเทศดีขึ้น ซึ่งขยายตัวเป็น 50.4 เทียบกับ 49.8 ในเดือนกรกฎาคม และสูงกว่าที่ 50.0 ที่คาดไว้โดยการสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ของ รอยเตอร์
การซื้อขายค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากตลาดสหรัฐฯปิดทำการในวันนี้ และนักลงทุนเองรอการรายงานข้อมูลจำนวนมากในสัปดาห์นี้ โดยข้อมูลสำคัญสำหรับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) คือรายงานการจ้างงานของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ที่อาจบ่งชี้ได้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ไว้ในเดือนนี้จะลดลงเป็นแบบปกติหรือลดลงมาก
นักวิเคราะห์คาดว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานลดลงเหลือ 4.2%
สัญญาซื้อขายล่วงหน้า(Futures) บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ 100%ที่จะมีการปรับลด0.25% จุดในวันที่ 18 กันยายน และบ่งบอกถึงความน่าจะเป็น 33% ที่จะลด 0.50%จุด อีกทั้งมองว่าจะลดลง 1%ภายในเดือนธันวาคม และ 1.20% สำหรับปี 2025
นอกจากนี้ยังมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากตลาดหลักๆ ในภูมิภาค ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อจากเกาหลีใต้ ข้อมูล GDP ไตรมาสสองของออสเตรเลีย ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจากญี่ปุ่นในปลายสัปดาห์นี้
ดัชนี SSE ตลาดหุ้นจีนอยู่ที่ 2,825.23 จุด ลดลง 16.98 จุด, -0.6%
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงอยู่ที่ 17,695.01 จุด ลดลง 294.06 จุด, -1.63%
ดัชนี Kospi ตลาดหุ้นเกาหลีอยู่ที่ 2,674.82 จุด เพิ่มขึ้น 0.51 จุด, +0.02%
ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันอยู่ 22,273.64 จุด เพิ่มขึ้น 5.55 จุด, +0.02%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนตุลาคมลดลง 0.54 ดอลลาร์ หรือ 0.73% ซื้อขายที่ 73.01 ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนตุลาคมลดลง 0.55 ดอลลาร์ หรือ 0.72% ซื้อขายที่ 75.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล