HoonSmart.com>> “ธนาคารไทยพาณิชย์” เผยเงินบาทแข็งค่าเร็วจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า ราคาทองสูงขึ้น ความกังวลการเมืองคลี่คลาย ในระยะสั้น มองบาทอาจกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อย ก่อนกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม Easing cycle สหรัฐฯ
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วตามดัชนีเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า ราคาทองคำที่สูงขึ้นเร็ว และความกังวลเกี่ยวกับการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย โดยพบว่า ปัจจัยต่างประเทศส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าปัจจัยการเมืองช่วงนี้ ในระยะต่อไป มองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าได้ในช่วงสั้น ก่อนที่จะกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตามวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยให้กรอบเงินบาทที่ราว 33.90-34.40 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ ตามเงินดอลลาร์ที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นตามการ Price-out rate cuts ของ Fed และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ใกล้เข้ามา สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ย มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปีนี้ สอดคล้องกับมุมมองในตลาดเงิน เนื่องจากภาวะการเงินไทยที่ตึงตัวขึ้นน่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศมากขึ้น หลังพบว่าการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ของธุรกิจบางกลุ่มเริ่มทำได้ยากขึ้น
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดการเงินโลกในเดือนที่ผ่านมาผันผวนรุนแรง โดยเป็นผลจากเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ผันผวน ทำให้ตลาดปรับมุมมองการลดดอกเบี้ยของ Fed โดยอัตราว่างงานสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นจาก 4.1% เป็น 4.3% ซึ่งแย่กว่าที่ตลาดคาดมาก ทำให้ตลาดกังวลว่าสหรัฐฯ อาจเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ Fed อาจต้องลดดอกเบี้ยถึง 125 bps ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ลดลงถึง 20-30 bps ภายใน 1 วัน
อย่างไรก็ดี เครื่องชี้เศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ออกตามมา เช่น ยอดค้าปลีกและเงินเฟ้อ ยังไม่แย่มาก ทำให้ตลาดคลายความกังวลและมองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ย 100 bps ในปีนี้ ส่งผลให้ Yields และดัชนีเงินดอลลาร์ปรับสูงขึ้นบ้าง
มุมมองดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ลดลงและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อเดือนกรกฎาคม ทำให้เกิดการ Unwind carry trade ของสกุลเงินเยน โดยเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นเร็วเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. พร้อมกับตลาดหุ้นทั่วโลกและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงแรง เกิดการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ (Assets rotation) โดยนักลงทุนโยกสินทรัพย์ออกจากสินทรัพย์เสี่ยง (หุ้น) ไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (พันธบัตรรัฐบาล) ซึ่งพบว่า การ Unwind carry trade เกิดขึ้นไปแล้วราว 60-70% ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเร็ว
อย่างไรก็ดี หลัง Treasury yields กลับมาสูงขึ้นบ้าง ทำให้ตลาดกลับมาทำ Carry trade อีกครั้ง โดยกลับมาเพิ่มขึ้นราว 30-40% ในระยะต่อไปมองว่าการ Unwind carry trade อาจเกิดขึ้นอีกได้ อย่างเร็วช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ย และ BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้เงินเยนแข็งค่าได้
อีกประเด็นที่อยากให้ลูกค้าจับตาคือเงินหยวน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ที่ผ่านมาจีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาก แต่ภาคธุรกิจนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศและยังไม่โยกเงินกลับมาจีนนัก ซึ่งหากในระยะต่อไปที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเร็ว อาจเกิดการโยกเงินกลับมาจีนเป็นจำนวนมาก และกดดันให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วได้
สำหรับค่าเงินบาท นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วตามดัชนีเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า ราคาทองคำที่สูงขึ้นเร็ว และความกังวลเกี่ยวกับการเมืองไทยที่เริ่มคลี่คลาย โดยพบว่า ปัจจัยต่างประเทศส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าปัจจัยการเมืองในประเทศช่วงนี้ ซึ่งอาจเพราะตลาด Price-in ความไม่แน่นอนทางการเมืองไว้บ้างแล้ว ในระยะต่อไปมองว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าได้ในช่วงสั้น ก่อนที่จะกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม Easing cycle สหรัฐฯ
กรอบเงินบาทอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยที่ราว 33.90-34.40 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ เพราะ 1) ตลาดอาจ Price-out Fed rate cuts ออกไปบ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะไม่ชะลอลงรุนแรงจนถึงต้องลดดอกเบี้ย 100 bps ในช่วงที่เหลือของปี และ 2) การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ใกล้เข้ามา และความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้า อาจทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ โดยมองว่า เงินบาทที่ราว 33.60-33.95 เป็นระดับที่ผู้นำเข้าอาจซื้อ USDTHB ได้ โดยหากเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ที่จะออกมาวันศุกร์นี้ ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด อาจเป็นจังหวะให้เงินดอลลาร์อ่อน และบาทแข็งค่าต่อ สำหรับผู้ส่งออกที่รอจังหวะขาย USDTHB มองว่ากรอบ 34.10-34.50 เป็นระดับที่ผู้ส่งออกอาจขายได้ โดยอาจรอจังหวะที่ราคาทองคำปรับลดลงมา หรือราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจกดดันให้บาทอ่อนค่าได้
สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ย มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปีนี้ สอดคล้องกับมุมมองในตลาดเงิน เนื่องจากภาวะการเงินไทยที่ตึงตัวขึ้นน่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศมากขึ้น และทำให้กลุ่มเปราะบางอาจเผชิญปัญหาสภาพคล่อง ส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อได้ ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินและแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยลง โดยขณะนี้ พบว่าการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ของธุรกิจบางกลุ่มเริ่มทำได้ยากขึ้น โดยพบว่าธุรกิจอสังหาฯ และกลุ่มการเงิน ที่มี Rating ไม่สูง (BBB+ หรือต่ำกว่า) บางราย ไม่สามารถขายหุ้นกู้ได้ครบตาม Target issue size เนื่องจากนักลงทุนกังวลความเสี่ยงด้านเครดิต
สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี อาจลดลงเล็กน้อยตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ กนง. ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อาจลดลงเพราะมาตรการภาครัฐมีโอกาสออกมาได้น้อยลง หลังการเปลี่ยนนายกฯ และ US Treasury yields ที่อาจอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวแต่ไม่เกิดเป็นวิกฤติ