HoonSmart.com>>รัฐเตรียมเก็บภาษีสินค้า กระบวนการการผลิตทำโลกร้อน ปล่อยคาร์บอนสูงจ่ายแพง ด้านกลุ่มบางจากฯ บริษัทกลุ่ม บริษัท อินโดรามาฯถอดประสบการณ์เดินหน้าสู่เป้าหมายลดสร้างก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดี กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวในหัวข้อ หัวข้อ “การรับมือภาวะโลกเดือด: โอกาสและความท้าทายของธุรกิจภายใต้นโยบายใหม่” ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อโลกและประเทศไทยเป็นอย่างมาก เช่น ปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือ ณ เวลานี้ ทำให้ทุกหน่วยงานควรให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยตั้งใจจะลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานสิ้นเปลือง เพื่อให้เข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2065 และตั้งเป้าหมายลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก 30–40% ภายในปี ค.ศ. 2030
ในการบรรลุเป้าหมายนี้ประเทศไทยจะต้องลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีต่างๆ และยุติการใช้โรงงานพลังงานถ่านหิน ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และขั้นต่อไปของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions : NDCs (ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อบรรลุความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ในความพยายามกำจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์) คือการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 40–60% ซึ่งประเทศไทยจะส่งแผนการทำงานภายในต้นปีหน้า
นายปวิช อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อมจากภาวะโลกร้อน กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจึงต้องการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่ผ่านขั้นตอนประชาพิจารณ์เมื่อไม่นานมานี้
ร่างกฎหมายนี้มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ สถาบัน, การบรรเทาผลกระทบ, การปรับตัว และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน การสร้างกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทุนแก่หน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานระดับท้องถิ่น หรือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้กรมฯ ได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร และสำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดมาตรการและรายละเอียดในการตรวจสอบและเก็บภาษีเพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบแก่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการ CBAM ที่มีผลบังคับใช้แล้ว และอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านก่อนเริ่มเก็บค่า CBAM certification หรือเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากผู้นำเข้าสินค้าใน ค.ศ. 2026 เป็นต้นไป
ร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยคาดว่าจะผ่านในช่วงปีหน้าหรือปีถัดไป ซึ่งจะกำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเริ่มจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อนและขยายผลไปสู่บริษัทอื่นๆ ต่อไป
หากบริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง ก็จะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนสูง หรือต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากรัฐบาลเพื่อชดเชยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ดำเนินกิจการโดยไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนให้มากที่สุด ในประเด็นนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสามารถให้แรงจูงใจทางภาษีและการลงทุนแก่บริษัทที่ตั้งใจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า การปรับธุรกิจเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ขั้นแรกภาคธุรกิจต้องเข้าใจว่าอยู่ถึงไหนแล้ว ใน 2 ข้อ คือการจัดทำ CFO (Carbon Footprint Organization) คือคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร วางเป้าหมายลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร และการทำดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทปล่อยออกมา CFP (Carbon Footprint Product)
ทั้งนี้ ได้วางโรแมพของธุรกิจ สู่การเป็น Neutral Carbon 2030 และ Net Zero 2050 ซึ่งครอบคลุมถึงการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงและทางอ้อม โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน (Scopes)
ขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีง่ายและถูกที่สุด คือ การปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องมือ ลดการใช้พลังงาน มีโซลาร์รูฟ และ อื่นๆ เพื่อลดอุณหภูมิของอาคารลง นำไปสู่การใช้พลังงานลดลง
ขั้นที่สอง Nature-Based Solution คือ การดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
ขั้นที่สาม Climate technology คือ การใช้เทคโนโลยีที่ควบคุมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขั้นตอนที่สามเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดและแพงที่สุด ต้องใช้การบูรณาการทั้งระบบนิเวศ ซัพพลายเชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อเป็น Fully integrated Ecosystem Across Supply chain
“ขั้นตอนที่หนึ่งและสอง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10-20% ส่วนอีก 80% ที่เหลือขึ้นอยู่กับขั้นตอนที่สาม”นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชม. ทุกวันตลอดทั้งปี ขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะมีข้อจำกัด เช่น พลังงานโชลาร์ผลิตได้เพียง 20% ต่อวัน การตอบโจทย์พลังงานเพื่อความยั่งยืนนั้นจะต้องสามารถปิดช่องว่างด้านระยะทางและเวลาได้ เช่น เมืองซินเจียง ประเทศจีนได้เปลี่ยนทะเลทรายเป็นโซลาร์ฟาร์มและส่งไปยังเมืองท่าชายฝั่งทะเลที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงด้วยเทคโนโลยี เช่น Ultra-High Voltage Transmission
นายยาโชวาดัน โลเฮีย Chairman of the ESG Council บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) กล่าวถึงนโยบายภาวะโลกร้อนของกลุ่ม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทด้านเคมีระดับโลก และเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกและขวดน้ำพลาสติก PET ว่า ได้วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 สอดคล้องกันกับเป้าหมายของประเทศไทย
การที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ กลุ่มบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การเปลี่ยนจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงมาสู่การใช้พลังงานชีวภาพ เช่น อ้อย, การรีไซเคิล, และการนำกากพืชกากสัตว์ หรือส่วนที่เหลือจากผลิตภัณฑ์การเกษตรมาใช้ในกระบวนการการผลิตใหม่ (Renewable Feedstocks)
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน คือ การที่มาตรการต่างๆ มีราคาแพง และกำหนดให้บริษัทต้องประสานกับภาครัฐและประชาชนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากในปัจจุบันการลงทุนในประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสูงกว่าประเทศจีนและอินเดียอีกด้วย ดังนั้นการที่รัฐบาลจะเก็บภาษีคาร์บอนและเพิ่มมาตรการต่างๆ ก็ต้องนำประเด็นนี้มาร่วมพิจารณาด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นายยาโชวาดัน ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาประเทศในยุโรปที่หลายโรงงานต้องปิดตัวไป เพราะมาตรการภาวะโลกร้อน และสงคราม โดยการขึ้นภาษีจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจสีเขียวมีต้นทุนสูงมาก เพราะกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม (Carbon Capture) มีราคาสูง หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการดำเนินการ
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยถือว่าอยู่ในจุดที่ดี เพราะยังมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ขณะที่ Carbon Footprints ของไทยยังถือว่าต่ำกว่าประเทศที่ใช้ถ่านหินอยู่มาก แต่ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณาคือผู้บริโภคอาจจะยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นให้กับผู้ผลิตที่ใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะจับจ่ายอย่างประหยัดขึ้น ทำให้ภาคการผลิตจะต้องวางแผนการผลิต ที่ทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่ก็ยังมีผลกำไรมากพอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้