HoonSmart.com>> “พิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลังเป็นสักขีพยานความร่วมมือ ปปง.-ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ เร่งบังคับใช้กฎหมาย ตัดวงจรอาชญากรรมเศรษฐกิจผ่านหลักทรัพย์-สกัดเส้นทางการเงิน กำจัดขยะตลาดทุน เรียกความเชื่อมั่น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการปปง. กล่าวว่า ปปง. มีบทบาทต่อตลาดทุนในแง่ของทั้งการเป็นหน่วยกำกับดูแลบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน ก็เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดมูลฐานที่เกิดขึ้นในตลาดทุนด้วย การดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการปั่นหุ้น หรืออินไซเดอร์ เทรดดิ้ง (Insider Trading) จะได้รับการประสานจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์โดยตรงถึงข้อมูลของการกระทำความผิด รวมถึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการตรวจสอบราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นว่ามีความผิดปกติหรือไม่ จากนั้นสำนักงาน ปปง. จึงจะรับช่วงต่อในส่วนของการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินเพื่อนำไปสู่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินต่อไป ทั้งนี้ ภายใต้กรอบกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลต่าง ๆ ถูกมองจากผู้ลงทุนว่าทำงานล่าช้า จนส่งผลให้ไม่สามารถป้องปรามอาชญากรรมในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของตลาดทุนไทย ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากความผิดมีความซับซ้อนและมีธุรกรรมจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสำนักงาน ปปง. จึงต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ ภายใต้กรอบกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคธุรกิจ
“การลงนามบันทึกความตกลงในวันนี้ จึงเป็นสิ่งยืนยันให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ในอนาคตหากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับซื้อขายหลักทรัพย์เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพร้อมประสานข้อมูลระหว่างกัน และลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน รวมถึงการส่งไม้ต่อระหว่างหน่วยบังคับใช้กฎหมายภายใต้กรอบกฎหมายของตนเพื่อการทำงานที่รวดเร็วยิ่งขึ้น” นายฉัตรชัย กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตลาดทุนเป็นศูนย์กลางในการระดมทุนจากประชาชนซึ่งเป็นผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก อาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตลาดทุน นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคดีใหญ่ ๆ เป็นที่สนใจของผู้ลงทุนเกิดขึ้นในตลาดทุนหลายคดี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมากและมีผลกระทบในวงกว้าง
ในโอกาสแรกที่ได้เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการ ก.ล.ต. มีความตั้งใจว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุนคือการดูแลธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องมีกลไกกำกับดูแลที่ชัดเจนและทันต่อเหตุการณ์ และมีนโยบายที่จะให้ความสำคัญกับการป้องปราม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดในตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเท่าทันกับสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนได้
“การประสานความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุน โดยการร่วมลงนามนี้เป็นก้าวสำคัญในการที่จะทำให้การปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ มีช่องว่างที่ลดลง เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายยิ่งขึ้น”ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง. และตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีบันทึกข้อตกลงแบบทวิภาคีระหว่าง ก.ล.ต. กับสำนักงาน ปปง. และ ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างกัน
ทั้งนี้ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำการทุจริตตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
“คาดหวังว่าการร่วมลงนามในบันทึกความตกลงระหว่าง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยให้การป้องปรามและบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในการป้องกันการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายใน การทุจริตของผู้บริหาร สามารถที่ควบคุมดูแลทั้งด้านหลักทรัพย์ และ การเงินด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของการขจัดปัญหา กำจัดขยะที่บดบังเสน่ห์ของตลาดทุนไทย”ศาสตราจารย์ ดร. พรอนงค์ กล่าว
ทั้งนี้ จากสถิติการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.ตั้งแต่เดือนม.ค.2567- 7 ส.ค.2567 มีการกล่าวโทษผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ทั้งรายบุคคล และรายบริษัทรวม 65 คดี ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างดำเนินการของพนักงานสอบสวน ที่มีการเปรียบเทียบปรับทางแพ่งเป็นเงิน 422 ล้านบาท ส่วนปี 2566 มีการกล่าวโทษผู้กระทำผิด 137 ราย รวม 29 คดี และมีคดีที่เปรียบเทียบปรับ 80 ราย รวม 43 คดี โดยมีค่าปรับทางแพ่งรวม 97 ล้านบาท ชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 6.46 ล้านบาท และชดใช้ค่าเสียหายในการตรวจสอบ 8.46 แสนบาท
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดทำบันทึกความตกลงระหว่างสำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เนื่องจากเรื่องระยะเวลาการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย
เช่น ถ้าสามารถที่จะแลกเปลี่ยนหรือแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้โดยรวดเร็ว และไม่ต้องจัดทำข้อมูลเดียวกันซ้ำ ๆ น่าจะช่วยลดระยะเวลาดำเนินการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายได้ รวมถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ปปง. เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่่มีผลกระทบต่อสังคมและผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเห็นว่าจะทำให้สามารถดึงความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนกลับมาได้ และป้องปรามให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว
ดังนั้น พิธีลงนามบันทึกความตกลงระหว่างสำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันนี้ จึงเป็นไปเพื่อประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและเข้มข้นมากขึ้น
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องปรามและสนับสนุนให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการหารือและประสานการทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ปปง. รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อันนำมาสู่การลงนามบันทึกความตกลงของทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อประสานความร่วมมือในการป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในวันนี้
“ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่า การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป”ดร. ภากร กล่าว