HoonSmart.com>> กนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%ตามคาด มองเศรษฐกิจโตตามคาด เหมาะกับเสถียรภาพระยะยาว ไม่ห่วงเงินบาทแข็งเร็ว แกว่งตามภูมิภาค ตลาดฟันธงดอกเบี้ยนิ่งตลอดปี ไม่สนเฟดจ่อหั่นลง 0.75% ค่ายกสิกรไทยประเมินความเสี่ยงกนง.ลดดอกเบี้ยปีนี้ หุ้นบวก 9.71 จุดดีกว่าเพื่อนบ้าน นำโดยกลุ่มแบงก์ ต่างชาติซื้อต่อ 756 ล้านบาท หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “จุลพันธ์” ยอมรับมีโอกาสปรับ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นแจกเงินสด
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 21 ส.ค.2567 คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
“กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด ส่งสัญญาณในเชิงบวก ข้อมูลเบื้องต้นเดือน ก.ค. ดูโอเค ทำให้ กนง.ไม่ได้ปรับมุมมองต่อภาพของเศรษฐกิจ โดยเห็นว่ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ คาดปีนี้โต 2.6% และ 3.0%ในปีหน้า แต่ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567แต่ต้องติดตามการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ”
นายปิติ กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้น ทุกปัจจัยล้วนมีเหตุผลต่อการชั่งน้ำหนัก เพราะมีผลกระทบวงกว้าง ทั้งภาระหนี้ ต้นทุนการเงินของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ การออมเงิน จึงต้องมองระยะปานกลางด้วยว่าต้นทุนหรือภาวะการเงินจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไร ดอกเบี้ย 2.5% ในปัจจุบันไม่สูงเมื่อเทียบต่างประเทศ
ส่วนภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วในระยะนี้ แต่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินในตลาดโลก และในภูมิภาค เพราะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์เป็นสำคัญ เนื่องจากตลาดปรับมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น และอาจจะมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับปัจจัยเฉพาะของไทย เช่น ทองคำราคาดี ทำให้ส่งออกทองคำมาก และการเมืองไทยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น อาจจะช่วยมุมมองเรื่องความมีเสถียรภาพ
สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยลดลงตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วนต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัวส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนสินเชื่อ SMEs หดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น สินเชื่อครัวเรือนชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง
ด้านห้องค้ากสิกรไทย ประเมินความเสี่ยงกนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้มีเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากแรงกดดันของนโยบายการเงินทั่วโลกที่กลับมาอยู่ในทิศทางผ่อนคลาย โดยหลายธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว อาทิ อีซีบี ธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางแคนาดา ขณะที่การลดดอกเบี้ยของเฟดใกล้เข้ามาทุกขณะ โดยคาดว่าเฟดจะเริ่มลดในการประชุมเดือนก.ย.นี้ และจะลดตลอดสามการประชุมที่เหลือของปีนี้ รวม 0.75%
ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) คงเป้า GDP ปีนี้โต 2.6% แม้ตัวเลขไตรมาส 2 ดีกว่าคาด และประเมินเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก การบริโภคภาคเอกชนตามแรงส่งของการท่องเที่ยวและภาคบริการ การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐในช่วงท้ายงบประมาณ รวมถึงผลของฐานต่ำจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 แต่คาดว่าอัตราการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม จะยังต่ำกว่าสิ้นปีงบประมาณปี 2566 อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมี 4 ข้อจำกัดสำคัญ ได้แก่ 1.การบริโภคมีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนสูง 2.ท่องเที่ยวมีข้อจำกัดจากด้านอุปสงค์และอุปทาน 3.ส่งออกมีข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.7% ลดลงจากประมาณการเดิม 2.0% และ4.เสถียรภาพเศรษฐกิจมีข้อจำกัดในหลายมิติ หวั่นเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังคงน่าห่วง
ส่วนความคืบหน้าโครงการ”ดิจิทัลวอลเล็ต” นั้นนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับเงื่อนไขเป็นการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางก่อนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า มีหลายแนวคิด แต่ยังไม่ขอตอบในรายละเอียด มีโอกาสเปลี่ยนเป็นทุกอย่าง ความชัดเจนจะออกมาเร็ว ๆ นี้ เพราะคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะแถลงนโยบายในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้
“ยอมรับว่ามีการพูดคุยกันในพรรคเพื่อไทยถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนแนวทางการการแจกเงินผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาทดิจิทัลวอลเล็ต แต่ไม่ขอลงในรายละเอียด “นายจุลพันธ์กล่าว
ด้านภาวะตลาดหุ้นวันที่ 21 ส.ค. 2567 ดัชนียังคงบวกต่อ 9.71 จุด หรือ 0.73% ดัชนีปิดที่ 1,337.83 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 41,295 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อต่อ 756 ล้านบาท สวนทางนักลงทุนไทยขายทำกำไร 1,139.15 ล้านบาท
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีกว่าภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ติดลบ และบวกเล็กน้อย หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาไม่ดี ขณะที่ไทยมีความชัดเจนเรื่องการเมือง และรัฐบาลพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ รวมถึงหุ้นท่องเที่ยวและโรงพยาบาล