แบงก์ฟาดกำไรQ2/66 6.43-6.63 หมื่นล. คาดNPls ขยับ เสี่ยงเพิ่มสำรอง

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฉายภาพธุรกิจแบงก์ไตรมาสที่ 2/66 มีกำไรสุทธิ 6.43-6.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสแรกทำได้ 5.48 หมื่นล้านบาท ได้ส่วนต่างดอกเบี้ยดีขึ้นเป็น 2.96-3.00% สินเชื่อโตช้าลงไม่ถึง 1% ค่าธรรมเนียมร่วง NPls ขยับขึ้นในกรอบ 2.68-2.72%  ธนาคารส่วนใหญ่น่าจะยังคงกันสำรองฯ แบบระมัดระวัง รับมือความเสี่ยงในอนาคต  รวมครึ่งปีแรกโกยกำไร 1.19-1.21 แสนล้านบาท 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ผลงานไตรมาสที่ 2/2566 ของระบบธนาคารพาณิชย์ คาดจะมีกำไรสุทธิ 6.43-6.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ทำได้จำนวน  5.48 หมื่นล้านบาท แม้จะมีแรงหนุนจากดอกเบี้ยที่ทยอยขยับขึ้น แต่สินเชื่อที่ขยายตัวช้าลง อาจส่งผลทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย( NIM) ปรับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 2.96-3.00% เทียบกับ 2.91% ในไตรมาส 1 เนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

1.สินเชื่อชะลอตัว อาจขยายตัวในกรอบ 0.5-0.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่เติบโต 1.3% YoY ในไตรมาส 1 เพราะมีแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อทั้งในส่วนของภาครัฐและธุรกิจ รวมถึงสัญญาณระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตในการปล่อยสินเชื่อใหม่

2.แรงกดดันด้านต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น หลังจากที่มีการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565  ประกอบกับธนาคารบางแห่ง (สัดส่วนประมาณ 49-50% ของพอร์ตเงินฝากรวมในระบบแบงก์ไทย) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2 ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ สัญญาณการฟื้นตัวแบบเปราะบางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการชะลอลงขยายในกรอบ 3.5-5.0% YoY แต่เป็นเพราะเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน และมีโอกาสหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก  เช่น ค่าธรรมเนียมนายหน้าอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดทุน และข้อจำกัดสำหรับการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางตัวที่เผชิญกับภาวะที่ตลาดเริ่มอิ่มตัว

ขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่น่าจะยังคงกันสำรองฯ แบบระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เพราะสัดส่วน NPLs มีโอกาสขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบ 2.68-2.72% ต่อสินเชื่อรวม จากระดับ 2.68% ในไตรมาส 1 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้นอาจเพิ่มแรงกดดันต่อคุณภาพของสินเชื่อ   ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจอยู่ในกรอบ 1.22-1.28% ขยับขึ้นจากระดับ 1.22% ในไตรมาส 1

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อาจทำได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การประคองรายได้จากธุรกิจหลัก ยังมีโจทย์ท้าทายจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง และยังต้องเตรียมปรับตัวรับเกณฑ์หรือกติกาที่อาจทยอยปรับเปลี่ยนมากขึ้นซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้า

ส่วนกฏเกณฑ์ กติกา หรือมาตรการของทางการที่กำลังจะทยอยปรับเปลี่ยน อาจมีผลจำกัดกรอบการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้า รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

“กำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในช่วงครึ่งปีแรก น่าจะทำได้ในกรอบประมาณ 1.19-1.21 แสนล้านบาท แต่มีโจทย์เฉพาะหน้าที่ยาก แนวโน้มเศรษฐกิจยังคงขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อาจเพิ่มแรงกดดันต่อเนื่องมาที่ธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์  และอาจยังคงต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ประเมินและทบทวนความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ เร่งบริหารจัดการคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อในเชิงรุก และตั้งสำรองฯ อย่างรอบคอบระมัดระวังโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ